วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก

           เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ รัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจ ของชาวพุทธทั้งประเทศ ได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาล ที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐

           ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูป ประธานพุทธมณฑล ปัจจุบันคือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

           วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลนั้น มี ๘ ประการ ข้อที่สำคัญที่สุด คือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ ๒,๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๐

           พุทธมณฑลสมัยนั้น ก็เป็นเสมือนป่าเราดี ๆ นี่เอง ยังไม่เกิดเป็นอำเภอ จุดที่อยู่ใกล้และมีชื่อเสียงให้รู้จักกันคือ ตำบลศาลายา ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี การก่อสร้างเริ่มไปได้ไม่เท่าไร รัฐบาล ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็หมดอำนาจ เป็นผลให้การก่อสร้างพุทธมณฑลหยุดชะงักไป จนถึง พ.ศ.๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ รับมอบงานก่อสร้างต่อจากกระทรวงมหาดไทยมาดำเนินการจัดสร้าง คราวนี้ให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ฝ่ายฆราวาสสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์

           การก่อสร้างดำเนินการต่อไป แต่ก็ดูจะไม่รวดเร็วนัก มาสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้หน่วยทหาร เป็นหน่วยหลัก แม้แต่หน่วยที่อยู่ใกล้ ๆ เช่นกองทัพภาคที่ ๔ ซึ่งในเวลานั้นผมย้ายไปรับราชการ อยู่ที่กองบัญชาการช่วยรบที่ ๔ กองทัพภาคที่ ๔ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้หน่วยทหาร ทั้งที่เป็นหน่วยกำลังรบ หน่วยโรงเรียนทหาร เช่น ร.ร.นายร้อย จปร. หน่วยฝ่ายเสนาธิการ เช่น กรมฝ่ายเสนาธิการต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันต่าง ๆ ที่เต็มใจจะช่วยเหลือ แม้แต่ตระกูลสำคัญ ๆ ที่มีสตางค์แยะ มาช่วยกันสร้างตกแต่งให้เกิดเป็นสวนขึ้นในพุทธมณฑล และได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งก่อนจะเล่ารายละเอียดของการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ผมขอเชิญชวนท่านไปเที่ยวชม ในพุทธมณฑลเสียก่อน เพราะเรื่องนี้หากจะให้ทราบละเอียดสักหน่อยก็คงจะยาวสักนิด หากเข้าไปในพุทธมณฑล ในเวลานี้ เข้าประตูที่อยู่เลยร้านลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบไปหน่อย ผ่านป้อมยามรับบัตรไม่เสียค่าผ่านประตู พื้นที่ สถานที่จะงดงามสุดพรรณนา ร่มรื่นไปทั่วบริเวณที่ผมได้บอกแล้วว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างสวนไว้ ๒๐ ปีเศษผ่านไป ต้นไม้ต่าง ๆ เติบโต สูงใหญ่ให้ความร่มรื่นหมดแล้ว สวยจริง ๆ และพื้นหญ้าข้างล่างก็ตัดแต่งโล่งเตียน จุดนี้สำคัญมาก หากต้นไม้โตใหญ่ แต่ข้างล่างหญ้ารกรุงรังก็หมดความงามกลายเป็นป่าไป แต่นี้ตัดแต่งหญ้า เรียบตลอดทั้งพื้นที่ "๒,๕๐๐ ไร" ไม่มีส่วนไหนเลยที่หญ้าจะไม่ได้รับการตัดแต่งจึงงดงามมาก และทั่วบริเวณด้านชายสวน จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาตัวโต ๆ รอรับอาหารจากผู้มาเที่ยวจะซื้ออาหารโยนไปให้กิน ในวันที่ผมไปนี้คือ ฤดูฝนน้ำจะเต็มขอบสระน้ำใสสะอาด จะนั่งริมน้ำหรือนั่งใต้ร่มไม้ จะเอาอาหารไปกินก็ได้ แต่อย่าลืมนึกถึงเรื่องความสะอาดของสถานที่ คนไปนั่งกินอาหารขอให้มีวัฒนธรรมที่ดีงามติดไปด้วย เศษอาหารและภาชนะขอให้เก็บทิ้งให้หมด ขอให้เสียดายสถานที่นี้กันมาก ๆ ว่างดงามสงบเพียงใด

           พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางพุทธมณฑล ต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกไว้นั้นสูง ๒.๑๔ เมตร แต่ต้องการให้มีความหมาย จึงได้ขยายแบบออกไป เพื่อให้ได้ ๒,๕๐๐ กระเบียด จึงต้องขยายออกไปอีก ๗.๕ เท่า เป็นความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร เมื่อขยายแบบเสร็จแล้วการสร้างต้องแบ่งพระพุทธรูปออกเป็น ๖ ส่วนคือ พระเศียร พระอุระ และพระพาหาข้างซ้าย พระนาภี และพระพาหาข้างขวา พระเพลา พระบาท และฐานบัวรองพระบาท พระกรซ้ายและขวา มีโลหะมาตรฐานเดียวกัน ๑๓๗ ชิ้น มีสูตรของส่วนผสมที่แน่นอนเรียกว่า "โลหะสำริด" เริ่มสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ โดยมี อาจารย์ สาโรช จารักษ์ อำนวยการสร้าง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๕

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลาไว้เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียร กับองค์พระพุทธรูป เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยสมเด็จพระสังฆราช เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ และระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูป

           วิหารพุทธมณฑล ซึ่งหากมองจากถนนใหญ่จะเห็นชัดเจน แต่เมื่อมองจากองค์พระพุทธรูปประธาน มองตัดความงดงามของสวนไม้ดอกออกไป ก็จะเห็นความงดงามอย่างยิ่ง เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น ๒ ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลาย ภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป ๘ องค์ และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๒๕ พุทธศตวรรษขนาด ๒,๕๐๐ มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๘
           ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อสร้างเสร็จในปี ๒๖๒๔
           ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
           หอประชุม สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมทางพระพุทธศาสนา และให้ความรู้ อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างด้านทิศเหนือใช้เป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๙
           หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลาง มีขนาด ๑.๖๐ เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
           สำนักงานพุทธมณฑล ลักษณะอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๕

           การไปชมอาคารทุกหลังจะไปสะดวกมาก มีถนนที่ลัดเลาะไปสวนไม้ที่ร่มรื่น ริมสระน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยม และมีป้ายบอกทิศทางไป อำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่
           อาคารประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๕
           ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธานมีทั้งหมด ๒๐ หลัง ด้านข้างโปร่ง
           ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด ๘ หลัง
           พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทยเป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรก แสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนที่ ๒ จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ ๓ ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ ฯ
           หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานนามว่า "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" ห้องสมุดนี้ใหญ่โตมาก ห้องอ่านหนังสือจุถึง ๕๐๐ คน มีหนังสือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๒๕๐ ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เจริญพระชนมายุ ๕ รอบ
           มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ ๙ ยอด ประดิษฐานในย่านกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด ๑.๑๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบน โดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๒ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๑ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์เก่าหลวงพ่อฯ บริจาคผมเคยไปเห็นพระไตรปิฎกหินอ่อน ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนม่า แต่ความงดงามของสถานที่นั้นจะเทียบกันไม่ได้เลย
           โรงอาหาร ก็เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย บริการด้านอาหารเมื่อมีกิจกรรมในพุทธมณฑล
           หอฉัน ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นที่อบรมศีลธรรม จริยธรรม ของนักเรียน นักศึกษาที่มาพักแรมเข้าค่ายพุทธบุตร
           ท่าเทียบเรือ อยู่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านหลังใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งเรือแล่นไปได้รอบพุทธมณฑล
           สระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังวิหาร มีขอบสระใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลอยกระทง
           ศาลาอำนวยการ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน จำหน่ายวัตถุมงคล "พระ ๒๕ พุทธศตวรรษประทับยืนปางลีลา" ยังมีจำหน่ายองค์ละ ๑๐๐ บาท เมื่อตอนเริ่มสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกนั้น ผมเคยเช่าจากปะรำพิธีในสนามหลวงองค์ละ ๑๐ บาท สิบบาทเมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว น่าจะสูงกว่า ๑๐๐ บาทในปัจจุบัน
           ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ด้านหลังศาลาอำนวยการใกล้องค์พระเช่นกัน เสาร์-อาทิตย์ ภาคเช้ามีถวายสังฆทาน อาทิตย์บ่ายมี พระธรรมเทศนา ไปติดกันเทศน์ทำบุญได้
           สำนักงานย่อย อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่
           ศาลาสรีรสราญ มีห้องสุขาไว้บริการประชาชน เห็นมีแห่งเดียวและได้แนะแล้วว่าควรเป็นห้องสุขาแบบผสม
           เรือนแถว ที่พักของเจ้าหน้าที่ป้อมยาม มี ๘ หลัง
           พื้นน้ำของพุทธมณฑลนั้นงามยิ่ง น้ำเต็มเปี่ยม สนามขอบสระน้ำเรียบเขียวชอุ่ม โล่งเตียน เนื้อที่พื้นน้ำมีมากถึง ๖๐๐ ไร่ สนามหญ้าและสวนต้นไม้มี ๑,๕๖๒ ไร่ เป็นถนนและทางเท้า ๒๔๔ ไร่ เป็นอาคาร และสิ่งก่อสร้างเพียง ๙๔ ไร่ จากจำนวนทั้งหมด ๒,๕๐๐ ไร่

           สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ซึ่งต้องตระเวนไปหาให้พบ หาไม่ยากเพราะมีป้ายนำ คือ

          ตำบลประสูติ
          ประดิษฐานหินรูปดอกบัว ๗ ดอก แกะสลักหินเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้มบาน ช่วงบนแกะสลักลายนูนรูปพระพุทธบาท กลางฝ่าพระบาทสลักชื่อแคว้นต่าง ๆ ๗ แคว้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รวม ๗ แคว้นคือ กาสี-โกศล,มคธ-อังคะ,สักกะ วัชชี,มัลละ,วังสะ,กุรุ

           ตำบลตรัสรู้
           ประดิษฐานหินรูปโพธิบัลลังก์ ช่วงบนแกะสลักนูนเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงาย มีรัศมีล้อมรอบช่วงล่าง

           ตำบลปฐมเทศนา
           ประดิษฐานหินเป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

          ตำบลปรินิพพาน
           ประดิษฐานหินสัญลักษณ์ รูปแท่นไสยาสน์ ทุกตำบลมีพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สวนไม้ดอก ไม้ประดับที่งดงาม

           สวน ต้องขอยกย่องและเชิดชูความงดงามของสวนต่างๆ ในพุทธมณฑลแห่งนี้ ได้แก่
           สวนเวฬุวัน คือสวนไผ่ มีต้นไผ่ประมาณ ๑๐๐ ชนิด
           สวนอัมพวัน คือสวนมะม่วงเช่นกัน มีมะม่วงพันธุ์ต่างๆ เกือบร้อยชนิด
           สวนธรรม คือสวนกระถินณรงค์
           สวนไทร มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนอื่นคือมี ๕ ไร่ แต่ก็สวยและร่มรื่นยิ่งนัก

           สวนลัฏฐิวัน คือ สวนตาล อยู่ตรงตำบล ปรินิพพาน
           สวนสมุนไพร มีสมุนไพรอยู่ประมาณ ๒๑๑ ชนิด ได้จัดเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศ ปลูกสมุนไพรในวัด มีที่จำหน่ายสมุนไพร เสียดายวันที่ไปยังไม่มีโอกาสไปชมและอุดหนุน

           กิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นในพุทธมณฑล กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันที่เป็นประเพณี มีกิจกรรเช่นวันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง มีกิจกรรม เลี้ยงพระเพลถวายสังฆทาน และฟังเทศน์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กิจกรรม วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ประชุมสัมนาพระสังฆาธิการ กิจกรรมประทานพัดยศโดยสมเด็จพระสังฆราช จัดกิจกรรมนอกสถานศึกษาของวัดและโรงเรียน และที่ผมส่งเสริมอย่างยิ่ง อยากเห็นคนไปเที่ยว ไปชมไปนมัสการพระประธานพุทธมณฑล ไปเยี่ยมชมบริเวณทั่วพุทธมณฑล ไปกันให้มากกว่านี้เหมือนผมเชียร์ให้ไปเที่ยวสวนรถไฟ ที่อยู่ติดกับสวนจตุจักร และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ประชาชนยังใช้พื้นที่ในพุทธมณฑลกันน้อยไป ยากที่จะหาสวนใดในโลกนี้ที่จะมีความสมบูรณ์เท่าสวนพุทธมณฑล "โดยเฉพาะสำหรับเราชาวพุทธ"

ที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติ เตรียมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลก

           ที่ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ วันนี้(๑๙ พ.ค.) เวลา ๐๙.๐๐ น. พระสงฆ์และผู้แทนชาวพุทธนานาชาติ จาก ๔๒ ประเทศ จำนวน ๑๖๐๐ รูป/คน เข้าร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๔๘ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุม ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ได้อ่านสารจากนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนให้มีการจัดการประชุมชาวพุทธฯ ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ ในหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นองค์ความรู้นำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน

           นายคิม ฮัก ซู รอง เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และเลขาธิการผู้บริหาร UNESCAP ได้อ่านสารจาก นาย โค ฟี่ อนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาว่า สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สิ้นสุดไปกว่า ๖๐ ปีแล้ว แต่ปัญหาความยากจนความอดยากยังคงมีอยู่ ซึ่งการจัดงานวันวิสาขบูชา มีวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกับองค์การสหประชาชาติ คือ การเสริมสร้างความเข้าในระหว่างบุคคล การแสวงหาการเป็นเอกภาพและการส่งเสริมสันติสุข ซึ่งหวังว่าการจัดงานดังกล่าว จะเป็นการร่วมกันแสวงหาและสรรสร้างวิธีการ กำจัดปัญหาความยากจน ความปลอดภัย โดยองค์รวมที่สามารถรับมือก่อการร้ายในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการเพิ่มความเคารพ ในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

           พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวการจัดงานเฉลิมฉลองวิสาขบูชา ในประเทศไทยปีนี้ว่า เป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในสองฝ่าย คือ การที่พระพุทธศาสนาทั้ง ๒ ฝ่าย มหายาน เช่น จีน ญี่ปุ่น และเถรวาท เช่น ไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา ได้ร่วมกันจัดงานเป็นปีแรก และเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกัน ที่องค์การสหประชาชาติได้เปิดให้ใช้สถานที่และ ส่งผู้แทนคนสำคัญ เช่น นายคิม ฮัก ซู มาร่วมในงานนี้ เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อวันที่ ๑๓ ธ.ค.๒๕๔๒

           “การ ที่นิกายมหายานและเถรวาท ไม่ได้มีการจัดงานวิสาขบูชาร่วมกันมาก่อนเนื่องจาก การนับวันเกิดของพระพุทธเจ้าไม่ตรงกัน ทางนิกายมหายานจะนับแบบสุริยคติ ซึ่งจะประมาณต้นเดือนเมษายน ขณะที่เถรวาทจะนับแบบจันทรคติ ซึ่งจะประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งครั้งนี้ต้องขอบคุณความใจกว้างของมหายาน ที่จริงได้จัดงานดังกล่าวไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ก็ยังมาร่วมจัดงานอีกครั้งในประเทศไทย เพื่อเป็นการแสดงให้องค์การสหประชาชาติและชาวโลกได้รับรู้ถึงพลังแห่งชาวพุทธ ที่มุ่งไปสู่การสร้างสันติภาพ” พระเทพโสภณ กล่าว

           ส่วนทางด้าน พระ ชิน ติ้ง จากสำนักโฝว กวง ซัน ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสม ที่จะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ทั้งมหายานและเถรวาท โดยใช้พุทธมณฑลเป็นศูนย์กลางประชุม ในขณะที่ประเทศจีนควรเป็นศูนย์กลางของพุทธฝ่ายมหายาน อย่างไรก็ตามในการประชุมวันพรุ่งนี้จะมีการลงมติผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนของโลก

           ในการประชุมชาวพุทธฯ ได้มีการสรุปสุนทรพจน์ของผู้นำชาวพุทธ อาทิ พระญาณนิสะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ประเทศพม่า เรื่องจากองค์การสหประชาชาติมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้เป็นบุคคลสำคัญของชาวเอเชียเท่านั้น แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญของโลก เป็นผู้แทนแห่งสันติภาพของโลก เพราะศาสนาพุทธ เน้นในเรื่องของความเมตตาและความรัก ในขณะที่ พระธีธรรมรัตนะ จากประเทศศรีลังกา กล่าวว่า การจัดงานร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลกจะเป็นการขจัดความขัดแย้งและนำสันติภาพมา สู่โลก เพราะจะเป็นการลดความไม่เข้าใจระหว่างกันได้ นอกจากนี้ พระจู่ เฉิง เลขาธิการพุทธสมาคมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้เดินทางมาร่วมงานดังกล่าวพร้อม นาย เย่ เสี่ยว เหวิง รัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมของจีน ซึ่งทั้ง ๒ คน ถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างมาก เนื่องจากพระจู่ เฉิง เป็นเลขาขององค์กรพุทธศาสนามหายาน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชาชนนับถือกว่า ๑๐๐ ล้านคน และเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกิจการศาสนาของประเทศจีนเดินทางมาไทย ซึ่งทั้ง ๒ มีความเห็นตรงกันว่า ควรจะต้องมีการจัดงานในลักษณะนี้ปีละ ๑ ครั้ง ในประเทศไทย และในปีหน้า ทางการจีนจะเชิญสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ไปร่วมงานด้านพระพุทธศาสนาในประเทศจีน

ประสูติและก่อนตรัสรู้

ประสูติและก่อนตรัสรู้[แก้]

เมื่อนับถอยหลังแต่บัดนี้ไปประมาณ 3,000 ปี ก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก หรือก่อนพระพุทธศักราช 500 ปีเศษ ในประเทศอินเดีย มีเมือง ๆ หนึ่ง ตั้งอยู่ข้างทิศเหนือ ไม่ปรากฏชื่อ ใกล้แคว้นสักกะชนบท พระเจ้าอุกกากะราชเป็นกษัตริย์ปกครอง พระองค์มีพระโอรสพระธิดา 9 พระองค์ คือ
  1. พระเชฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
  2. พระอุกกามุข
  3. พระกรกัณฑุ
  4. พระหัตถินีก
  5. พระสินิปุระ
  6. พระกนิฏฐภคินี ไม่ปรากฏพระนาม
พระโอรสและพระธิดาทั้ง 9 พระองค์นี้ ประสูติแต่พระมเหสีเก่า ครั้นพระมเหสีเก่าทิวงคตแล้ว พระเจ้าอุกกากะราช มีพระมเหสีใหม่ ได้พระโอรสซึ่งประสูติแต่พระมเหสีนี้ 1 พระองค์ มีพระราชประสงค์จะพระราชทานราชสมบัติแก่พระโอรสองค์น้อยนี้ ซึ่งพระมเหสีผู้โปรดปรานทูลขอให้ จึงรับสั่งให้พระโอรสและพระธิดาทั้ง 9 ซึ่งมีพระอุกกามุขราชกุมารเป็นหัวหน้า ยกจาตุรงคเสนาพร้อมด้วยช่างทุกหมู่ ตลอดกสิกร สัตว์พาหนะและปศุสัตว์ทุกประเภท ยกไปสร้างพระนครใหม่ อยู่ที่ดงไม้สักกะ ใกล้ภูเขาหิมพาน อันเป็นชัยมงคลสถานที่อยู่ของกบิลดาบส
ครั้นได้สร้างพระนครแล้ว จึงขนานนามพระนครนี้ว่า กบิลพัสดุ์ โดยอาศัยชื่อของกบิลดาบส เจ้าของถิ่นเดิมเป็นนิมิต ภายหลังกษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์นั้น เกรงจะเสื่อมเสียขัตติยวงศ์ หากจะไปอภิเษกสมรสด้วยกษัตริย์อื่น ด้วยพระโอรสที่เกิดมาจะไม่เป็นอุภโตสุชาติ คือ เกิดจากมารดาและบิดาดีไม่พร้อมทั้งสองฝ่าย ดีเฉพาะบิดาฝ่ายเดียว จึงได้อภิเษกสมรสด้วยเจ้าหญิงทั้ง 4 ผู้เป็นกนิฏฐภคินี ยกขึ้นเป็นอัครมเหสีสืบราชสันตติวงศ์
ต่อมาพระเจ้าอุกกากะราช ตรัสถามข่าวถึงพระโอรสและพระธิดาด้วยความเป็นห่วง อำมาตย์ได้กราบทูลพฤติการณ์ของพระโอรสทั้งหลายให้ทรงทราบ พระองค์ทรงได้ปราโมทย์ ตรัสสรรเสริญพระโอรสทั้งหลายว่า เป็นผู้สามารถดี ด้วยคำว่า สักกะ แปลว่า อาจ ด้วยพระวาจานี้ได้ถือเป็นมงคลนิมิตของกษัตริย์นครกบิลพัสดุ์ว่า ศากยะ ดังนั้นกษัตริย์วงศ์นี้ จึงมีนามว่า ศากยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา
ฝ่ายพระเชฏฐภคินี เจ้าหญิงผู้พี่นั้น ได้อภิเษกสมสู่ด้วยพระเจ้ากรุงเทวทหะ ตั้งวงศ์กษัตริย์อีกวงศ์หนึ่ง เรียกว่า โกลิยวงศ์ ดำรงขัตติยสกุลสืบมา
กษัตริย์ศากยสกุลในพระนครกบิลพัสดุ์ สืบเชื้อสายจำเนียรกาลลงมาโดยลำดับ ถึงพระเจ้าชยเสนะ ทรงครองราช พระองค์มีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหหนุ พระราชบุตรีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า ยโสธรา ครั้นพระเจ้าชยเสนะทิวงคตแล้ว สีหหนุกุมารผู้เป็นรัชทายาท ก็ทรงสืบศากยวงศ์ ได้ทรงขอพระนางกาญจนาพระกนิฏฐภคินีของพระเจ้าอัญชนะ กษัตริย์แห่งนครเทวทหะ มาเป็นพระมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี แต่พระนางกาญจนาเทวี 7 พระองค์ เป็นชาย 5 พระองค์ คือ สุทโธทนะ 1 สุกโกทนะ 1 อมิโตทนะ 1 โธโตทนะ 1 ฆมิโตทนะ 1 เป็นหญิง 2 พระองค์ คือ ปมิตา 1 อมิตา 1
พระเจ้าอัญชนะกษัตริย์แห่งนครเทวทหะ ก็ได้ทูลขอพระนางยโสธรา พระกนิฏฐภคินี ของพระเจ้าสีหหนุไปเป็นมเหสี มีพระราชบุตรพระราชบุตรี 4 พระองค์ เป็นชาย 2 พระองค์ คือ สุปปพุทธะ 1 ทัณฑปาณิ 1 เป็นหญิง 2 พระองค์ คือ มายา 1 ปชาบดี 1 พระองค์หลังนี้เรียกว่า โคตมี บ้าง ต่อมาพระเจ้าสีหหนุได้ทูลขอพระนางมายา พระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะ แห่งเทวทหะนคร ให้เป็นพระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบุตรองค์ใหญ่ ทรงประกอบพระราชพิธีมงคลอภิเษกสมรสในงานครั้งนี้เป็นการใหญ่ ณ ปราสาทโกกนุท ที่อโศกอุทยาน พระนครเทวทหะ ครั้นพระเจ้าสีหหนุทิวงคตแล้ว สุทโธทนะราชกุมาร ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบศากยวงศ์ต่อมา
ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าบังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราช เสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมและเทวราชในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นฟ้า ชวนกันไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า จุติลงไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมสั่งสอนประชากรให้รู้ธรรมและประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก
พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายก่อน ทรงพิจารณาดู ปัญจมหาวิโลกนะ 5 ประการ คือ 1. กาล 2. ประเทศ 3. ตระกูล 4. มารดา 5. อายุ เห็นว่าอยู่ในสถานที่ควรจะเสด็จจุติลงได้ ด้วยจะสำเร็จดังมโนปณิธานที่ทรงตั้งไว้ จึงได้ทรงรับคำทูลเชิญของมวลเทพนิกร
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งเทพเจ้าทั้งหลายกลับคืนนิวาสถานของตน ๆ แล้ว เสด็จแวดล้อมไปด้วยเทพบริวาร ไปสู่นันทวันอุทยาน อันมีในดุสิตเทวโลก เสด็จประภาสรื่นรมณ์อยู่ในทิพย์อุทยานนั้น ครั้นได้เวลาอันสมควรก็เสด็จจุติลงมาปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางเจ้ามายาราชเทวี อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ ในวันเพ็ญ เดือน 8 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
ในราตรีกาลวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญเดือน 8 นั้น พระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงอธิษฐานสมาทานอุโบสถศีล เสด็จบรรทมบนพระแท่นที่ ในเวลารุ่งสุริยรังษีปัจจุบันสมัย ทรงพระสุบินนิมิตว่า
"ท้าวจาตุมหาราชทั้ง 4 มายกพระองค์ไปพร้อมกับพระแท่นที่ผทม เอาไปวางไว้บนแผ่นมโนศิลา ภายใต้ต้นรังใหญ่ แล้วมีนางเทพธิดามาทูลเชิญให้เสด็จไปสรงน้ำในสระอโนดาษ ชำระล้างมลทินแห่งมนุษย์แล้ว ทรงผลัดด้วยผ้าทิพย์ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอมอันเป็นทิพย์ ทั้งประดับด้วยทิพย์บุบผาชาติ ใกล้ภูเขาเงินภูเขาทอง แล้วเชิญเสด็จให้เข้าผทมในวิมานทอง บ่ายพระเศียรไปยังปราจีนทิศ (ตะวันออก) ขณะนั้นมีเศวตกุญชร ช้างเผือกเชือกหนึ่ง ชูงวงจับดอกปุณฑริกปทุมชาติ (บัวขาว) เพิ่งแย้มบาน กลิ่นหอมฟุ้งตระหลบ ลงจากภูเขาทองด้านอุตตรทิศ ร้องก้องโกญจนาทเดินเข้าไปในวิมาน ทำปทักษิณเวียนพระแท่นที่ผทมได้ 3 รอบ แล้วปรากฏเสมือนเข้าไปสู่พระอุทรทางเบื้องขวาของพระราชเทวี" ก็พอดีพระนางเจ้าเสด็จตื่นบรรทม ขณะนั้นก็พลันบังเกิดกัมปนาทแผ่นดินไหว มีรัศมีสว่างไปทั่วโลกธาตุ เป็นบุพพนิมิตโดยธรรมนิยม ในเวลาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาราชเทวี
ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนางเจ้ามายาราชเทวี จึงกราบทูลเรื่องพระสุบินนิมิตเมื่อราตรีแก่พระราชสามี พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช จึงรับสั่งให้เชิญพราหมณ์ปาโมกข์โหราจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วทรงเล่าเรื่องพระสุบินของพระราชเทวีให้ทำนาย พราหมณ์ทั้งหลายก็ทูลพยากรณ์ว่า พระสุบินของพระราชเทวี เป็นมงคลนิมิตปรากฏ พระองค์จะได้พระปิโยรส เป็นอัครบุรุษมนุษย์ชายชาติเชื้ออาชาไนย มีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ในโลกสันนิวาส เป็นที่พึ่งของประชาชาติไม่มีผู้ใดเสมอ พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงสดับก็ทรงโสมนัส โปรดประทานการบริหารพระครรภ์พระราชเทวีเป็นอย่างดี ให้สนมอยู่ประจำที่คอยอภิบาลอยู่ตลอดเวลา
เมื่อพระนางเจ้ามายาราชเทวีทรงพระครรภ์อยู่ถ้วนทศมาส 10 เดือนบริบูรณ์แล้วมีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปเมืองเทวทหะนคร อันเป็นชาติภูมิของพระองค์ จึงกราบทูลลาพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสามี ครั้นได้รับพระราชทานอนุมัติแล้ว ก็เสด็จโดยราชยานสีวิกามาศ (วอทอง) แวดล้อมด้วยเสนามาตย์ราชบริพาร ตามเสด็จถวายอารักขาเป็นอย่างดี ในวันวิสาขะปุณณมี เพ็ญเดือน 6 ออกจากพระนครในเวลาเช้า เสด็จไปตามมรรคาโดยสวัสดี ตราบเท่าบรรลุถึงลุมพินีสถาน อันตั้งอยู่ในระหว่างพระนครทั้งสอง คือ พระนครกบิลพัสดุ์และพระนครเทวทหะ เป็นรมณียสถาน บริบูรณ์ด้วยรุกขบุบผาผลาชาติ กำลังผลิตดอกออกผล หอมฟุ้งขจรจบในบริเวณนั้น พระนางเจ้ามีพระทัยปรารถนาจะเสด็จประพาส จึงอำมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะจากมรรคา เสด็จเข้าสู่ลุมพินีวัน เสด็จลงจากราชยานสีวิกามาศ แวดล้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและนารีราชบริวารเป็นอันมาก เสด็จดำเนินไปถึงร่มไม้สาละพฤกษ์ ทรงยกพระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งสาละซึ่งอ่อนน้อมค้อมลงมา ขณะนั้นก็ประจวบลมกัมมัชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์ ใกล้ประสูติ เจ้าพนักงานทั้งหลายก็รีบจัดสถานที่ผูกม่านแวดวงเข้ากับภายใต้ร่มไม้สาละถวายเท่าที่พอจะทำได้ แล้วก็ชวนกันออกมาภายนอก เทพยดาในหมื่นจักรวาลมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น พระนางเจ้ามายาเทวี ทรงนุ่งโกสัยพัสตร์ขจิตด้วยทอง ทรงห่มทุกุลพัสตร์คลุมพระองค์ลงไปถึงหลังพระบาท ประทับยืนผันพระปฤษฏางค์พิงเข้ากับลำต้นมงคลสาละพฤกษ์ พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ ทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ
เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ
ในกาลนั้น เป็นมหามงคลหุติฤกษ์ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าประสูติจากมาตุคัพโภทร ท้าวสุธาวาสมหาพรหมทั้ง 4 พระองค์ ก็ทรงถือข่ายทองรองรับพระกายไว้ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระราชเทวีแล้วกล่าวว่า พระแม่เจ้าจงทรงโสมนัสเถิด พระราชโอรสที่ประสูตินี้ มีมเหศักดาอานุภาพยิ่งนัก ขณะนั้นท่ออุทกธาราทั้งสองก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำร้อน ท่อธารหนึ่งเป็นน้ำเย็น ตกลงมาโสรจสรงพระกายพระกุมารกับพระราชมารดา
พระสิทธัตถะกุมาร
ลำดับนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พระองค์ ก็ทรงรับพระราชกุมารไปจากพระหัตถ์ท้าวมหาพรหม โดยรองรับพระองค์ด้วยอชินจัมมาชาติ อันมีสุขสัมผัส ซึ่งสมมุติว่าเป็นมงคลในโลก ต่อนั้น นางนมทั้งหลายจึงรองรับพระองค์ด้วยผ้าทุกุลพัสตร์จากพระหัตถ์ท้าวจตุโลกบาล และขณะนั้นพระราชกุมาร ก็เสด็จอุฏฐาการลงจากมือนางนมทั้งหลาย เสด็จเหยียบยืนยังพื้นภูมิภาค ด้วยพระบาททั้งสองเสมอเป็นอันดี ท้าวมหาพรหมก็ทรงเปรมปรีย์ ทรงทิพย์เศวตฉัตรกลางกั้น กันละอองมิให้มาถูกต้องพระยุคลบาท ท้าวสยามเทวราช ทรงซึ่งทิพย์วาลวิชนีอันวิจิตร เทพบุตรที่มีมหิทธิฤทธิ์องค์หนึ่ง ถือพระขรรค์อันขจิตด้วยแก้ว 7 ประการ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนประดิษฐานถือฉลองพระบาทชาตรูปมัยทั้งคู่ เทพบุตรองค์หนึ่งยืนเชิดชูทิพยมหามงกุฏ ล้วนเป็นเกียรติแก่พระกุมาร ซึ่งเพียบพร้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 ปรากฏแก่นัยน์ตาของมวลมนุษย์ แต่เทพยดาทั้งหลายที่ถือนั้นมิได้เห็นปรากฏ
ครั้นพระกุมารทอดพระเนตรไปยังปราจีนทิศ เห็นเทพยดามนุษย์เป็นอันมาก มาสโมสรสันนิบาตในลานอันเดียวกัน และเทพยดาทั้งปวงนั้นทำสักการบูชาด้วยบุบผาชาติต่าง ๆ ตั้งไว้บนเศียรเกล้า แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระกุมาร พระองค์เป็นผู้ประเสริฐสุด จะหาบุคคลในโลกนี้เสมอด้วยพระองค์มิได้มี ครั้นแล้วพระกุมารเจ้าก็บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศอุตตรทิศ เสด็จย่างพระบาทไปบนพื้นแผ่นทอง อันท้าวจตุโลกบาลถือรองรับไว้ได้ 7 ก้าว แล้วทรงหยุดประทับยืนบนทิพยปทุมบุบผาชาติ อันมีกลีบได้ 100 กลีบ ทรงเปร่งพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม ดำรัสอาภิสวาจาด้วยพระคาถาว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ หมสฺมิ อยนฺติมา เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว ฯ
ความว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี
ขณะนั้น โลกธาตุก็บังเกิดมหัศจรรย์หวั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ก็อ่อนมิได้ร้อนเย็นสบาย มหาเมฆก็ตั้งขึ้นในทิศทั้งหลาย ยังวัสโสทกให้ตกลงในที่นั้น ๆ โดยรอบ ทิศานุทิศทั้งหลายก็โอภาสสว่างยิ่งนัก ทั้งสรรพบุพพนิมิตปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็ปรากฏมี ดุจการเมื่อเสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์นั้น
และในวันพระกุมารประสูตินั้น มีมนุษย์และสัตว์ กับสิ่งซึ่งเป็นสหชาติมงคลบังเกิดร่วมกันวันทันสมัยถึง 7 คือ พระนางพิมพา 1 พระอานนท์ ผู้เป็นราชโอรสพระเจ้าอมิโตทนะ พระเจ้าอา 1 กัณฐกอัสวราช ม้าพระที่นั่ง 1 ไม้มหาโพธิ์ 1 กับขุมทอง 4 ขุม คือ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี
ครั้นกษัตริย์ศากยราชทั้งสองพระนครทรงทราบข่าวสาร พระกุมารประสูติก็ทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่งมาก จึงเสด็จมาอัญเชิญพระราชกุมารพร้อมด้วยพระชนนี แวดล้อมด้วยมหันตราชบริวาร กึกก้องด้วยดุริยะประโคมขาน แห่เสด็จคืนเข้าพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้จัดพี่เลี้ยง นางนม พร้อมด้วยเครื่องสูงแบบกษัตริย์ บำรุงพระราชกุมาร กับจัดแพทย์หลวงถวายการบริหารพระราชเทวี พระราชชนนีของพระกุมารเป็นอย่างดี

อสิตดาบสทำนายลักษณะ[แก้]

ครั้งนั้นมีดาบสองค์หนึ่งมีนามว่า กาฬเทวิล แต่มหาชนเรียกว่า อสิตะ ได้สมาบัติ 8 มีฤทธิ์มาก เป็นกุลุปกาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้ทราบข่าวจากเทพยดาว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชโอรส จึงเดินทางเข้าไปยังกบิลพัสดุ์นคร เพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะในพระราชนิเวศน์ ถวายพระพรถามข่าวถึงการประสูติของพระราชโอรส พระเจ้าสุทโธทนะทรงปีติปราโมทย์ รับสั่งให้เชิญพระโอรสมาถวายเพื่อนมัสการท่านอสิตะดาบส แต่พระบาททั้งสองของพระโอรส กลับขึ้นไปปรากฏบนเศียรเกล้าของอสิตะดาบสเป็นอัศจรรย์ พระดาบสเห็นดังนั้น ก็สดุ้งตกใจ ครั้นพิจารณาดูลักษณะของพระกุมาร ก็ทราบชัดด้วยปัญญาญาณ มีน้ำใจเบิกบาน หัวเราะออกมาได้ด้วยความปีติโสมนัส ประนมหัตถ์ถวายอภิวาทแทบพระยุคคลบาทของพระกุมาร และแล้วอสิตะดาบสกลับได้คิด เกิดโทมนัสจิตร้องไห้เสียใจในวาสนาอาภัพของตน
พระเจ้าสุทโธทนะได้ทอดพระเนตรเห็นอาการของท่านอาจารย์พิกล ก็แปลกพระทัย เดิมก็ทรงปีติเลื่อมใสในการอภิวาทของท่านอสิตะดาบสว่า อภินิหารของพระปิโยรสนั้นยิ่งใหญ่ประดุจท้าวมหาพรหม จึงทำให้ท่านอาจารย์มีจิตนิยมชมชื่นอัญชลี ครั้นเห็นท่านอสิตะดาบสคลายความยินดีโศกาอาดูร ก็ประหลาดพระทัยสงสัย รับสั่งถามถึงเหตุแห่งการร้องไห้ และการหัวเราะ เฉพาะหน้า
อสิตะดาบสก็ถวายพระพรพรรณนาถึงมูลเหตุ ว่าเพราะอาตมาพิจารณาเห็นเป็นมหัศจรรย์ พระกุมารนี้มีพระลักษณะพระโพธิสัตว์เจ้าบริบรูณ์ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าโดยแท้ และจะเปิดโลกนี้ให้กระจ่างสว่างไสวด้วยพระกระแสแห่งธรรมเทศนา เป็นคุณที่น่าโสมนัสยิ่งนัก แต่เมื่ออาตมานึกถึงอายุสังขารของอาตมาซึ่งชราเช่นนี้แล้ว คงจะอยู่ไปไม่ทันเวลาของพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระบรมครูสั่งสอน จึงได้วิปฏิสารโศกเศร้า เสียใจที่มีอายุไม่ทันได้สดับรับพระธรรมเทศนา อาตมาจึงได้ร้องไห้
ครั้นอสิตะดาบทถวายพระพรแล้ว ก็ทูลลากลับไปบ้านน้องสาว นำข่าวอันนี้ไปบอกนาลกะมานพ ผู้หลานชาย และกำชับให้พยายามออกบวชตามพระกุมารในกาลเมื่อหน้าโน้นเถิด
ครั้นถึงวันเป็นคำรบ 5 นับแต่พระกุมารประสูติมา พระเจ้าสุทโธทนะราชจึงโปรดให้ทำพระราชพิธีโสรจสรงองค์พระกุมารในสระโบกขรณี เพื่อถวายพระนามตามขัตติยราชประเพณี โปรดให้ตกแต่งพระราชนิเวศน์ ประพรมด้วยจตุรสุคนธชาติ และได้โปรยปรายซึ่งบุบผาชาติ มีข้าวตอกเป็นคำรพ 5 ปูลาดอาสนะอันขจิตด้วยเงินทองและแก้ว ตกแต่งข้าวปายาสอันประณีต ให้ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และเสนามุขอำมาต์ย ทั้งปวงพร้อมกันในพระราชนิเวศน์ รับสั่งให้เชิญพระราชโอรสอันประดับด้วยราชประสาธนาภรณ์อันวิจิตรมาสู่มหามณฑลสันนิบาต แล้วเชิญพราหมณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพท 108 คน ให้เลือกสรรเอาพราหมณ์ 8 คน ผู้ทรงคุณวิทยาประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้นั่งเหนืออาสนะอันสูง แล้วให้เชิญพระราชโอรสไปยังที่ประชุมพราหมณ์ 8 คนนั้น เพื่อพิจารณาพระลักษณะพยากรณ์
พราหมณ์ 8 คนนั้น มีนามว่า รามพราหมณ์ 1 ลักษณะพราหมณ์ 1 ยัญญพราหมณ์ 1 ธุชพราหมณ์ 1 โภชพราหมณ์ 1 สุทัตตพราหมณ์ 1 สุยามพราหมณ์ 1 โกณทัญญพราหมณ์ 1 ใน 7 คนข้างต้น เว้นโกณทัญญพราหมณ์เสีย พิจารณาเห็นพระลักษณะพระกุมารบริบูรณ์ จึงยกนิ้วมือขึ้น 2 นิ้ว ทูลเป็นสัญลักษณ์ทำนายมีคติ 2 ประการว่า พระราชกุมารนี้ ผิว่าสถิตอยู่ในฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ผิว่าออกบรรพชาจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่โกณทัญญพราหมณ์ผู้เดียว ผู้มีอายุน้อย หนุ่มกว่าพราหมณ์ทั้ง 7 คนนั้นได้พิจารณาเห็นแท้แน่แก่ใจว่า พระราชกุมารจะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม่นมั่น จึงได้ยกนิ้วมือเดียว เป็นสัญลักษณ์พยากรณ์เป็นคติเดียวว่า พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยพระมหาบุรุษพุทธลักษณ์โดยส่วนเดียว จะอยู่ครองฆราวาสวิสัยมิได้ จะเสด็จออกบรรพชา และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้
และได้พร้อมกันถวายพระนามพระกุมาร ตามคุณพิเศษที่ปรากฏ เพราะพระกุมารมีพระรัศมีโอภาสงามแผ่สร้านออกจากพระสรีระกายเป็นปกติ จึงถวายพระนามว่า อังคีรส และเพราะพระกุมารต้องพระประสงค์สิ่งอันใด สิ่งอันนั้นจะต้องพลันได้ดังพระประสงค์ จึงได้ถวายพระนามว่า สิทธัตถะ แต่มหาชนนิยมเรียกตามพระโคตรว่า โคตมะ (โดยเฉพาะคนไทยเราแต่ก่อนนิยมเรียกว่า สิทธารถ อ่านว่า สิทธาด)
ในวันนั้น บรรดาขัตติยวงศ์ศากยราชทั้งหมด มีความปีติโสมนัสยิ่งนัก ต่างได้ทูลถวายราชบุตรองค์ละองค์ ๆ สิ้นด้วยกัน เป็นราชบริพารของพระราชกุมาร ฝ่ายพราหมณ์ 7 คนที่ถวายพยากรณ์พระกุมารว่า มีคติเป็น 2 นั้น เมื่อกลับไปถึงเคหะสถานแล้ว ต่างเรียกบุตรของตนมาสั่งว่า พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์มีบุญญาธิการยิ่งนัก แต่บิดาชราแล้ว จะได้อยู่ทันเห็นพระองค์หรือไม่ก็มิรู้ หากพระกุมารจะเสด็จออกบรรพชาแล้วไซร้ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมั่นคง เจ้าทั้งหลายจงออกบวชในพระพุทธศาสนาเถิด

พระราชมารดาสิ้นพระชนม์[แก้]

ส่วนพระนางมายาเทวี เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าล่วงไปได้ 7 วัน ก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร สถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณีพระพุทธมารดา พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้มอบการบำรุงรักษาพระสิทธัตถะกุมาร ให้เป็นภาระแก่พระนางปชาบดี โคตมี พระเจ้าน้า ซึ่งก็เป็นพระมเหษีของพระองค์ด้วย แม้พระนางปชาบดี โคตมี ก็มีพระเมตตารักใคร่พระกุมารเป็นที่ยิ่ง เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงพระกุมารเป็นอย่างดี แม้ต่อมาพระนางเจ้าจะมีพระโอรสถึง 2 พระองค์ คือ นันทกุมาร และรูปนันทากุมารี ก็ทรงมอบภาระให้แก่พี่เลี้ยงนางนมบำรุงรักษา ส่วนพระนางเจ้าทรงเป็นธุระบำรุงพระสิทธัตถะกุมารด้วยพระองค์เอง
ต่อมาวันหนึ่ง เป็นวันพระราชพิธีวัปปมงคล งานแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จไปทรงแรกนาขวัญ ในงานพระราชพิธีนั้น ก็โปรดเกล้าให้เชิญพระกุมารไปในงานพระราชพิธีนั้นด้วย ครั้นเสด็จถึงภูมิสถานที่แรกนาขวัญ ก็โปรดให้จัดร่มไม้หว้า ซึ่งหนาแน่นด้วยกิ่งใบ อันอยู่ใกล้สถานที่นั้น เป็นที่ประทับของพระกุมาร โดยแวดวงด้วยม่านอันงามวิจิตร ครั้นถึงเวลาพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงไถแรกนา บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมที่เฝ้าถวายบำรุงรักษาพระกุมาร พากันหลีกออกมาดูพิธีนั้นเสียหมด คงปล่อยให้พระกุมารประทับ ณ ภายใต้ร่มไม้หว้าพระองค์เดียว
เมื่อพระกุมารเสด็จอยู่พระองค์เดียว ได้ความสงัดเป็นสุข ก็ทรงนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ยังปฐมฌานให้บังเกิด ในเวลานั้นเป็นเวลาบ่าย เงาแห่งต้นไม้ทั้งหลาย ย่อมชายไปตามแสงตะวันทั้งสิ้น แต่เงาไม้หว้านั้นดำรงทรงรูปปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ดุจเวลาตะวันเที่ยง เป็นมหัศจรรย์ เมื่อนางนมพี่เลี้ยงทั้งหลายกลับมา เห็นปาฏิหาริย์ดังนั้นก็พลันพิศวง จึงรีบไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะราช ๆ ได้ทรงสดับก็เสด็จมาโดยเร็ว ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์เป็นมหัศจรรย์เช่นนั้น ก็ยกพระหัตถ์ถวายอภิวันทนาการ ออกพระโอฐดำรัสว่า เมื่อวันเชิญมาให้ถวายนมัสการพระกาฬเทวิลดาบส ก็ทรงทำปาฏิหาริย์ขึ้นไปยืนบนชฏาพระดาบส อาตมะก็ประณตครั้งหนึ่งแล้ว และครั้งนี้อาตมะก็ถวายอัญชลีเป็นวาระที่สอง ตรัสแล้วให้เชิญพระกุมารเสด็จคืนเข้าพระนคร ด้วยความเบิกบานพระทัย
ครั้นจำเนียรกาลมา พระสิทธัตถกุมารเจริญพระชนมพรรษาได้ 7 ขวบ พระราชบิดาจึงโปรดให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระ ปลูกปทุมบัวหลวงสระ 1 ปลูกปุณฑริกบัวขาวสระ 1 ปลูกอุบลบัวขาบสระ 1 จัดให้มีเรือพายพร้อมสรรพ เพื่อให้พระกุมารและบริวารน้อย ๆ ทรงเล่นเป็นที่สำราญพระทัย กับทรงจัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโผกพระเศียร ฉลองพระองค์ ผ้าทรงสะพัก พระภูษา ล้วนเป็นของมาแต่แคว้นกาสี ซึ่งนิยมว่าเป็นของประณีต ของดี ในเวลานั้นทั้งสิ้น มีคนคอยกั้นเศวตฉัตร (คือพระกลดขาว ซึ่งนับว่าเป็นของสูง) ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะมิให้เย็นร้อนธุลีละออง แดด น้ำค้าง มาถูกต้องพระกายได้
เมื่อพระสิทธัตถะกุมารมีพระชนม์เจริญ ควรจะศึกษาศิลปวิทยาได้แล้ว พระราชบิดาจึงทรงพาไปมอบไว้ในสำนักครูวิศวามิตร พระกุมารทรงเรียนได้ว่องไว จนสิ้นความรู้ของอาจารย์สิ้นเชิง ต่อมาได้ทรงแสดงศิลปธนู ซึ่งถือว่าเป็นวิชาสำคัญสำหรับกษัตริย์ ในท่ามกลางขัตติยวงศ์ศากยราช และเสนามุขอำมาตย์ แสดงความแกล้วกล้าสามารถเป็นเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมถึง ให้ปรากฏเป็นอัศจรรย์
ครั้นพระกุมารมีพระชันษาได้ 16 ปี ควรมีพระเทวีได้แล้ว พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท 3 หลัง คือ วัมยปราสาท 1 สุรัมยปราสาท 1 สุภปราสาท 1 เพื่อเป็นที่เสด็จประทับอยู่ของพระราชโอรสใน 3 ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ตกแต่งปราสาท 3 หลังนั้นงดงามสมพระเกียรติ เป็นที่สบายในฤดูนั้น ๆ แล้วตรัสขอ พระนางยโสธรา แต่นิยมเรียกว่า พระนางพิมพา พระราชบุตรีของพระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนคร อันประสูติแต่พระนางอมิตา พระกนิฏฐภคินีของพระองค์ มาอภิเษกเป็นพระชายา พระสิทธัตถะกุมารเสด็จอยู่บนปราสาททั้ง 3 หลังนั้น ตามฤดูทั้ง 3 บำเรอด้วยดนตรีล้วน แต่สตรีประโคมขับ ไม่มีบุรุษเจือปน เสวยสุขสมบัติทั้งกลางวันกลางคืน จนพระชนม์ได้ 29 ปี มีพระโอรสประสูติแต่นางยโสธราพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ราหุลกุมาร

เทวทูตทั้ง 4[แก้]

เทวทูตทั้ง 4
พระสิทธัตถะบริบูรณ์ด้วยความสุขตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนทรงพระเจริญวัยเห็นปานนี้ ก็เพราะเป็นพระราชโอรสสุขุมาลชาติ ยิ่งพระราชบิดาและพระญาติวงศ์ ได้ทรงฟังคำทำนายของอสิตดาบส และพราหมณ์ทั้ง 8 นาย ว่ามีคติเป็นสอง คือจะต้องประสบอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าออกบรรพชาจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ก็จำเป็นอยู่เองที่พระองค์จะปรารถนาให้พระกุมารอยู่ครองสมบัติ มากกว่าที่จะยอมให้ออกบรรพชา จึงต้องคิดอุบายรักษาผูกพันพระกุมารไว้ให้เพลิดเพลินในกามสุขอย่างนี้
วันหนึ่ง พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน โดยรถพระที่นั่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตรในระยะทาง ทรงเบื่อหน่ายในกามสุข ตั้งต้นแต่ได้ทรงเห็นคนแก่ เป็นลำดับไป
ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไปได้ เป็นอย่างนั้น เพราะโทษที่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ เห็นผู้อื่นแก่ เจ็บ ตาย ย่อมเบื่อหน่ายเกลียดชัง ไม่คิดถึงตัวว่า จะต้องเป็นเหมือนอย่างนั้นบ้าง เมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต เหมือนหนึ่งเป็นคนจะไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย มีแต่ขวนขวายหาของอันมีสภาวะเช่นนั้น ไม่คิดอุบายเครื่องพ้นบ้างเลย ถึงพระองค์ก็มีอย่างนั้นเป็นธรรม แต่จะเกลียดเบื่อหน่ายเหมือนอย่างเขา ไม่สมควรแก่พระองค์เลย
เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็ทรงบันเทาความเมา 3 ประการ คือ เมาในวัย เมาในความไม่มีโรค และเมาในชีวิต กับทั้งความเพลิดเพลินในกามสมบัติเสียได้ จึงทรงดำริต่อไปว่า ธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีของที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่นมีร้อน ก็มีเย็นแก้ มีมืด ก็มีสว่างแก้ บางทีจะมีอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้นได้บ้างกระมัง ก็แต่ว่า การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์ 3 อย่างนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ยังอยู่ในฆราวาสวิสัย จะแสวงหาไม่ได้ เพราะฆราวาสนี้เป็นที่คับแคบนัก และเป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์อันทำใจให้เศร้าหมอง เหตุความรัก ความชัง ความหลง ดุจเป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอเป็นที่แสวงหาอุบายนั้นได้ ทรงดำริอย่างนี้แล้ว ก็มีพระอัธยาศัยน้อมไปในบรรพชา ไม่ยินดีในฆราวาสสมบัติ
ครั้นทรงแน่พระทัยว่า เป็นอุบายให้แสวงหาธรรมเป็นเครื่องพ้นได้เช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส เสด็จกลับพระราชวังในเวลาเย็น ด้วยพระเกียรติยศอันสูง เสด็จขึ้นประทับที่มุขปราสาทชั้นบน

ทรงสดับคุณบทพระนิพพาน[แก้]

ขณะนั้น นากีสาโคตมี ราชกัญญาแห่งศากยราช ได้ทอดพระเนตรเห็นพระสิทธัตถะ มีพระทัยปฏิพัทธ ได้ตรัสคาถาสรรเสริญพระคุณสมบัติของพระกุมารด้วยสุรเสียงอันไพเราะว่า
นิพฺพุตา นูน สา มาตา
นิพฺพุโต นูน โส ปิตา
นิพฺพุตา นูน สา นารี
ยสฺสายํ อีทิโส ปติ.
ความว่า หญิงใด เป็นมารดาของพระกุมารนี้ หญิงนั้นดับทุกข์ได้ ชายใดเป็นบิดาของพระกุมารนี้ ชายนั้นดับทุกข์ได้ พระกุมารนี้เป็นสามีของนางใด นางนั้นก็ดับทุกข์ได้
พระสิทธัตถะทรงสดับคาถานั้น ทรงเลื่อมใส พอพระทัยในคำว่า นิพฺพุตา ความดับทุกข์ ซึ่งมีความหมายไกลออกไปถึงพระนิพพาน ธรรมเครื่องดับทุกข์ทั้งมวล ทรงดำริว่า พระน้องนางผู้นี้ ให้เราได้สดับคุณบทแห่งพระนิพพานครั้งนี้ ชอบยิ่งแล้วจึงทรงถอดสร้อยมุกข์ซึ่งมีค่ายิ่งจากพระศอ พระราชทานรางวัลแก่พระนางกีสาโคตมีด้วยทรงปีติยินดี ผดุงน้ำพระทัยให้พระองค์น้อมไปในการเสด็จออกบรรพชายิ่งขึ้น แต่ตรงข้ามจากความรู้สึกของพระนางกีสาโคตมี ซึ่งมีความรู้สึกในศัพท์ว่า นิพฺพุตา ต่ำ ๆ เพียงดับทุกข์ยาก ไม่ต้องเดือดร้อน สำหรับคนครองเรือน ยิ่งได้รับพระราชทานสร้อยมุกข์ ก็กลับเพิ่มความปฏิพัทธในพระกุมารยิ่งขึ้น คิดว่าพระกุมารคงจักพอพระทัยปฏิพัทธในพระนาง และแล้วก็คิดไกลออกไปตามวิสัยของคนมีความรัก

เสด็จหนีออกบรรพชา[แก้]

ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นมีทางเดียว คือ เสด็จหนีออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใย ในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้น ด้วยหากจะทูลพระราชบิดา ก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติทราบเรื่อง ก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้ เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในเวลาราตรีนั้น เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลาย ที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ
เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ดุจซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมา ได้กลายเป็นป่าช้า ปรากฏแก่พระสิทธัตถะในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำเพิ่มขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ทำชีวิตให้มีผลไม่เป็นหมัน ทรงตกลงพระทัยเช่นนี้ ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น
ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทพระนางพิมพาเทวี เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร พระโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ เผยพระทวารห้องบรรทมของพระนางพิมพาเทวี เห็นพระนางบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส เสด็จออกจากห้องเสด็จลงจากปราสาท พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมดีแล้ว ก็เสด็จขึ้นประทับม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ซึ่งเทพยดาบรรดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี
เมื่อเสด็จข้ามพระนครไปแล้ว ขณะนั้นพญามารวัสวดี ผู้มีจิตบาป เห็นพระสิทธัตถะสละราชสมบัติ เสด็จออกจากพระนคร เพื่อบรรพชา จะล่วงพ้นบ่วงของอาตมาซึ่งดักไว้ จึงรีบเหาะมาประดิษฐานลอยอยู่ในอากาศ ยกพระหัตถ์ขึ้นร้องห้ามว่า ดูกร พระสิทธัตถะ ท่านอย่ารีบร้อนออกบรรพชาเสียก่อนเลย ยังอีก 7 วันเท่านั้น ทิพยรัตนจักรก็จะปรากฏแก่ท่าน แล้วท่านก็จะได้เป็นองค์บรมจักรพรรดิ์ เสวยสมบัติเป็นอิสราธิบดี มีทวีใหญ่ทั้ง 4 เป็นขอบเขต ขอท่านจงนิวัตนาการกลับคืนเข้าพระนครเถิด
พระสิทธัตถะจึงตรัสว่า ดูกรพญามาร แม้เราก็ทราบแล้วว่า ทิพยรัตนจักรจะเกิดขึ้นแก่เรา แต่เราก็มิได้มีความต้องการด้วยสมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น เพราะแม้สมบัติบรมจักรพรรดิ์นั้น ก็ตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ไม่อาจนำผู้เสวยให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจงหลีกไปเถิด เมื่อทรงขับพญามารให้ถอยไปแล้ว ก็ทรงขับม้ากัณฐกะราช ชาติมโนมัยไปจากที่นั้น บ่ายหน้าสู่มรรคา เพื่อข้ามให้พ้นเขตราชเสมาแห่งกบิลพัสดุ์บุรี เหล่าเทพยดาก็ปลาบปลื้มยินดี บูชาด้วยบุบผามาลัยมากกว่ามาก บ้างก็ติดตามห้อมล้อมถวายการรักษาพระมหาบุรุษเจ้าตลอดไป

ถือเพศบรรชิต[แก้]

(ตามนัยอรรถกถา) หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะหนีออกจากพระราชวัง ทรงตัดพระเมาฬีที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีเพื่ออธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต
พอจวนเวลาใกล้รุ่งปัจจุสมัย ก็บรรลุถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ก็ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตบุรีกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จลงจากหลังอัสวราช ประทับนั่งเหนือหาดทรายอันขาวสะอาด รับสั่งแก่นายฉันนะว่า เราจักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิตในที่นี้ ท่านจงเอาเครื่องประดับของอาตมากับม้าสินธพกลับพระนครเถิด ครั้นตรัสแล้วก็ทรงเปลื้องเครื่องประดับสำหรับขัตติยราชทั้งหมดมอบให้แก่นายฉันนะ ตั้งพระทัยปรารถนาจะทรงบรรพชา จึงทรงดำริว่า เกศาของอาตมานี้ ไม่สมควรแก่สมณเพศ จึงทรงจับพระโมลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ตัดพระโมลีให้ขาดออกเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงจับพระโมลีนั้นขว้างขึ้นไปบนอากาศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณโดยแท้แล้ว ขอจุฬาโมลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา ทว่าจะมิได้บรรลุสิ่งซึ่งต้องประสงค์ ก็จงตกลงมายังพื้นพสุธา ในทันใดนั้น จุฬาโมฬีก็มิได้ตกลงมา คงลอยอยู่ในอากาศ จึงสมเด็จพระอัมรินทราธิราชก็เอาผอบแก้วมารองรับไว้ แล้วนำไปบรรจุยังจุฬามณีเจดีย์สถาน ในเทวโลก
ขณะนั้น ฆฏิการพรหม ก็น้อมนำไตรจีวรและบาตร มาจากพรหมโลกเข้าไปถวาย พระสิทธัตถะทรงรับผ้าไตรจีวรกาสาวพัสตร์และบาตรแล้ว ก็ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต อุดมเพศ แล้วทรงมอบผ้าทรงเมื่อยังเป็นคฤหัสถ์เพศทั้งคู่ ให้แก่ฆฏิการพรหม ๆ ก็น้อมรับผ้าคู่นั้นไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ ในพรหมโลกสถาน.

นายฉันนะนำอาภรณ์กลับพระนครกบิลพัสดุ์[แก้]

เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าทรงบรรพชาแล้ว จึงดำรัสสั่งนายฉันนะ อำมาตย์ว่า ท่านจงเป็นธุระนำอาภรณ์ของอาตมากลับเข้าไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ แจ้งข่าวแก่ขัตติยสกุลทั้งหลายอันยังมิได้รู้เหตุ แล้วกราบทูลพระปิตุเรศ และพระราชมาตุจฉาว่า พระโอรสของพระองค์หาอันตรายโรคาพยาธิสิ่งใดมิได้ บัดนี้บรรพชาแล้ว อย่าให้พระองค์ทรงทุกข์โทมนัสถึงพระราชบุตรเลย จงเสวยภิรมย์ราชสมบัติให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด เมื่ออาตมาได้บรรลุพระสัพพัญญุญาณแล้ว จะได้ไปเฝ้าพระราชบิดา พระมารดา กับทั้งพระประยูรญาติขัตติยวงศ์ทั้งมวล ท่านจงกลับไปกราบทูลข่าวสารด้วยประการฉะนี้
นายฉันนะ อำมาตย์ รับพระราชโองการแล้ว ก็ถวายบังคมลาแทบพระยุคลบาท มิอาจจะกลั้นโศกาอาดูรได้ มิอยากจะจากไปด้วยความเสน่หาอาลัยเป็นที่ยิ่ง รู้สึกว่าเป็นโทษหนักที่ทอดทิ้งให้พระมหาบุรุษเจ้าอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ก็ไม่อาจขัดพระกระแสรับสั่งได้ จำต้องจากพระมหาบุรุษเจ้าไปด้วยความสลดใจสุดจะประมาณ นำเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้าทั้งหมด เดินทางพร้อมกับม้ากัณฐกะสินธวชาติ กลับพระนครกบิลพัสดุ์ พอเดินทางไปได้ชั่วสุดสายตาเท่านั้น ม้ากัณฐกะก็ขาดใจตาย ด้วยความอาลัยในพระมหาบุรุษเจ้าสุดกำลัง
เมื่อนายฉันนะกลับไปถึงพระนคร ชาวเมืองทั้งปวงก็โจษจันกันอึงมี่ ว่านายฉันนะอำมาตย์กลับแล้ว ต่างก็รีบไปถามข่าว มวลหมู่อำมาตย์ทราบความก็บอกเล่ากันต่อ ๆ ไป ตราบจนนายฉันนะอำมาตย์เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะราช ถวายเครื่องอาภรณ์ของพระมหาบุรุษเจ้า แล้วกราบทูลความตามที่พระมหาบุรุษเจ้าสั่งมาทุกประการ
ครั้นพระราชบิดา พระมาตุจฉา พระนางพิมพา ตลอดจนขัตติยราช ได้สดับข่าวก็ค่อยคลายความโศกเศร้า และต่างก็ตั้งหน้าคอยสดับข่าวตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ของพระมหาบุรุษสืบไป ตามคำพยากรณ์ที่อสิตดาบส และพราหมณ์ทั้งหลายทูลถวายไว้แต่ต้นนั้น

โกณทัญญพราหมณ์ชวนเพื่อนออกบวช[แก้]

ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาแล้วก็ดีใจ รีบไปหาบุตรของเพื่อนพราหมณ์ทั้ง 7 คน ที่ร่วมคณะถวายคำทำนายพระลักษณะด้วยกัน กล่าวว่า บัดนี้พระสิทธัตถะกุมารเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้ ไม่มีข้อที่จะสงสัย ถ้าบิดาของท่านทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ก็จะออกบรรพชาด้วยกันในวันนี้ ผิว่าท่านทั้งหลายปรารถนาจะบวช ก็จงมาบวชตามเสด็จพระมหาบุรุษพร้อมกันเถิด แต่บุตรพราหมณ์ทั้ง 7 นั้น หาได้พร้อมใจกันทั้งสิ้นไม่ ยินดีรับยอมบวชด้วยเพียง 4 คน โกณฑัญญะพราหมณ์ก็พาพราหมณ์มานพทั้ง 4 ออกบรรพชา เป็น 5 คนด้วยกัน จึงได้นามว่า พระปัญจวัคคีย์ เพราะมีพวก 5 คน ชวนกันออกสืบเสาะติดตามพระมหาบุรุษเจ้า
ส่วนพระมหาบุรุษหลังแต่ทรงบรรพชาแล้ว เสวยบรรพชาสุขอยู่ ณ ที่ป่าไม้มะม่วงตำบลหนึ่ง มีนามว่า อนุปิยอัมพวัน เว้นเสวยพระกระยาหารถึง 7 วัน ครั้นวันที่ 8 จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะ เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น เมื่อได้บิณฑภัตรพอแก่ยาปนมัตถ์ ก็เสด็จกลับจากพระนคร โดยเสด็จออกจากทางประตูที่แรกเสด็จเข้าไป ตรงไปยังมัณฑวะบรรพต มีหน้าผาเป็นที่ร่มเย็น ควรแก่สมณวิสัย ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ทรงปรารภจะเสวยอาหารในบาตร ทอดพระเนตรเห็นบิณฑาหารในบาตร ไม่สะอาด ไม่ประณีต หารสกลิ่นอันควรแก่การเสวยมิได้ เป็นอาหารเลว ที่พระองค์ไม่เคยเสวยมาแต่ก่อน ก็บังเกิดปฏิกูล น่ารังเกียจเป็นที่ยิ่ง
ลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสสอนพระองค์เองว่า "สิทธัตถะ ตัวท่านบังเกิดในขัตติยสุขุมาลชาติ เคยบริโภคแต่อาหารปรุงแต่งด้วยสุคันธชาติโภชนสาลี อันประกอบด้วยสูปพยัญชนะมีรสอันเลิศต่าง ๆ ไฉนท่านจึงไม่รู้สึกตนว่า เป็นบรรพชิตเห็นปานฉะนี้ และเที่ยวบิณฑบาตร อย่างไรจะได้โภชนาหารอันสะอาดประณีตมาแต่ที่ใดเล่า และบัดนี้ ท่านสมควรจะคิดอย่างไรแก่อาหารที่ได้มานี้" ครั้นให้โอวาทแก่พระองค์ฉะนี้แล้ว ก็มนสิการในปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารบิณฑบาตรด้วยปัจจเวกขณ์ และปฏิกูลปัจจเวกขณ์ ด้วยพระปรีชาญาณสมบูรณ์ด้วยพระสติดำรงมั่น เสวยมิสกาหารบิณฑบาตรอันนั้น ปราศจากความรังเกียจดุจอมฤตรส และทรงกำหนดในพระทัยว่า ตั้งแต่ทรงบรรพชามาได้ 8 วัน เพิ่งได้เสวยภัตตาหารในวันนี้

พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าพระมหาบุรุษถวายราชสมบัติ[แก้]

ครั้นพวกราชบุรุษได้เห็นพระมหาบุรุษในขณะเสด็จบิณฑบาต ก็นำความไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งให้สะกดรอยติดตาม เพื่อทราบความเท็จจริงของบรรพชิตพิเศษรูปนี้ ครั้นพวกราชบุรุษติดตามได้ความจริงแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงมคธให้ทรงทราบ
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับ ก็มีพระทัยโสมทัสในพระคุณสมบัติ ทรงพระประสงค์จะได้พบ จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครโดยด่วน ครั้นถึงบัณฑวะบรรพต ก็เสด็จลงจากราชยาน เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าพระมหาบุรุษเจ้า เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระอิริยาบถเรียบร้อย อยู่ในสมณสังวร ก็ยิ่งหลากพระทัย ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาของพระมหาบุรุษ ครั้นได้ทูลถามถึงตระกูล ประเทศ และพระชาติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นขัตติยศากยราชเสด็จออกบรรพชา ก็ทรงดำริว่า ชะรอยพระมหาบุรุษจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติ ด้วยเรื่องพระราชสมบัติเป็นแม่นมั่น จึงได้เสด็จออกบรรพชา ซึ่งเป็นธรรมดาของนักพรต ที่ออกจากราชตระกูลบรรพชาแต่กาลก่อน จึงได้ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ยินดีจะแบ่งถวายให้เสวยสมพระเกียรติทุกประการ
พระมหาบุรุษจึงตรัสตอบขอบพระทัยพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งมีพระทัยกอรปด้วยพระเมตตา แบ่งสิริราชสมบัติพระราชทานให้ครอบครอง แต่พระองค์มิได้มีความประสงค์จำนงหมายเช่นนั้น ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัพพัญญุตญาณโดยแท้
พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับ ก็ตรัสอนุโมทนา และทูลขอปฏิญญากะพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด ครั้นพระมหาบุรุษทรงรับปฏิญญาแล้ว ก็ถวายบังคมลากลับเข้าพระนคร

พระมหาบุรุษเสด็จเข้าสำนักดาบส-เริ่มทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา[แก้]

ลำดับนั้น พระมหาบุรุษก็เสด็จจาริกจากที่นั้น ไปสู่สำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในพนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ขอพำนักศึกษาวิชาและข้อปฏิบัติอยู่ ทรงศึกษาอยู่ไม่นาน ก็ได้สำเร็จสมาบัติ 7 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 3 สิ้นความรู้ของอาฬารดาบส ทรงเห็นว่าธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาฬารดาบส ไปสู่สำนักอุทกดาบส รามบุตร ขอพำนักศึกษาอยู่ด้วย ทรงศึกษาไดอรูปฌาน 4 ครับสมาบัติ 8 สิ้นความรู้ของอุทกดาบส ครั้นทรงไตร่ถามถึงธรรมวิเศษขึ้นไป อุทกดาบสก็ไม่สามารถจะบอกได้ และได้ยกย่องตั้งพระมหาบุรุษไว้ในที่เป็นอาจารย์เสมอด้วยตน แต่พระมหาบุรุษทรงเห็นว่า ธรรมเหล่านี้มิใช่ทางตรัสรู้ จึงได้อำลาอาจารย์ออกแสวงหาธรรมวิเศษสืบไป ทั้งมุ่งพระทัยจะทำความเพียรโดยลำพังพระองค์เดียว ได้เสด็จจาริกไปยังมคธชนบท บรรลุถึงตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ราบรื่น แนวป่าเขียวสด เป็นที่เบิกบานใจ แม่น้ำไหล มีน้ำใสสะอาด มีท่าน่ารื่นรมณ์ โคจรคาม คือ หมู่บ้านที่อาศัยเที่ยวภิกษาจาร ก็ตั้งอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นว่าประเทศนั้น ควรเป็นที่อาศัยของกุลบุตรผู้มีความต้องการด้วยความเพียรได้ จึงเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น
ส่วนบรรพชิตทั้ง 5 อันมีนามว่า ปัญจวัคคีย์ คือ พระโกณทัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ พากันเที่ยวติดตามพระมหาบุรุษในที่ต่าง ๆ จนไปประสบพบพระมหาบุรุษยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทแล้วอยู่ปฏิบัติบำรุง จัดทำธุรกิจถวายทุกประการ โดยหวังว่าเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดตนบ้าง
พระมหาบุรุษทรงเริ่มทำทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่นิยมว่าเป็นทางให้ตรัสรู้ได้ในสมัยนั้น โดยทรมานพระกายให้ลำบาก ซึ่งเป็นกิจยากที่บุคคลจะกระทำได้ ด้วยการทรมานเป็น 3 วาระ ดังนี้
การบำเพ็ญทุกรกิริยา
วาระแรก ทรงกดพระทนต์ (ฟัน) ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุ (เพดานปาก)ุด้วยพระชิวหา (ลิ้น) ไว้ให้แน่น จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลจากพระกัจฉะ (รักแร้) ในเวลานั้นได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง จับบุรุษมีกำลังน้อยไว้ที่ศีรษะ หรือที่คอ บีบให้แน่น ฉะนั้น แม้พระกายจะกระวนกระวายไม่สงบระงับอย่างนี้ ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย พระองค์มีพระสติมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ท้อถอย ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ 2 ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสสะ (ลมหายใจเข้าออก) เมื่อลมไม่ได้ทางเดินสะดวก โดยช่องพระนาสิก (จมูก) และช่องพระโอฐ (ปาก) ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณ (หู) ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร (หัว) ร้อนในพระกายเป็นกำลัง แม้จะได้เสวยทุกขเวทนากล้าถึงเพียงนี้ ทุกขเวทนานั้น ก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่าย มีพระสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ครั้นทรงเห็นว่า การกระทำอย่างนี้ ไม่ใช่ทางตรัสรู้ ก็ทรงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ 3 ทรงอดพระอาหาร ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย ๆ บ้าง เสวยอาหารละเอียดบ้าง จนพระกายเหี่ยวแห้ง พระฉวี (ผิว) เศร้าหมอง พระอัฏฐิ (กระดูก) ปรากฏทั่วพระกาย เมื่อทรงลูบพระกาย เส้นพระโลมามีรากเน่าร่วงจากขุมพระโลมา พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปข้างไหนก็ซวนเซล้ม วันหนึ่งทรงอ่อนพระกำลัง อิดโรยโหยหิวที่สุด จนไม่สามารถจะทรงพระกายไว้ได้ ก็ทรงวิสัญญีภาพ (สลบ) ล้มลงในที่นั้น

ทรงอสัญญีภาพ[แก้]

ขณะนั้น เทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่า พระมหาบุรุษดับขันธ์ทิวงคตแล้ว จึงรีบไปยังพระปราสาทพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ทูลว่า บัดนี้ พระสิทธัตถะกุมารพระราชโอรสของพระองค์ สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งถามว่า พระโอรสของเราได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าหรือยัง เป็นประการใด เทพยดาก็ตอบว่า ยังมิทันได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ท้าวเธอไม่ทรงเชื่อ จึงรับสั่งว่า จะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ หากพระโอรสของเรายังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะด่วนทำลายพระชนม์ชีพหามิได้เลย แล้วเทพดาองค์นั้นก็อันตรธานจากพระราชนิเวศน์ไป
ส่วนพระมหาบุรุษ เมื่อได้ซึ่งสัญญาฟื้นพระกายกุมพระสติให้ตั้งมั่น พิจารณาดูปฏิปทาในทุกกรกิริยาที่ทำอยู่ ทรงดำริว่า ถึงบุคคลทั้งหลายใด ๆ ในโลกนี้ จะทำทุกกรกิริยาอย่างอุกฤษฐ์นี้ บุคคลนั้น ๆ ก็ทำทุกกรกิริยาเสมออาตมาเท่านั้น จะทำให้ยิ่งกว่าอาตมาหามิได้ แม้อาตมาปฏิบัติอย่างอุกฤษฐ์อย่างนี้แล้ว ไฉนหนอจึงยังไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณ ชรอยทางตรัสรู้จะมีเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างนี้เป็นแน่ เกิดพระสติหวลระลึกถึงความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางตรัสรู้ได้บ้าง

ทรงระลึกถึงเสียงพิณ[แก้]

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธราชทรงทราบข้อปริวิตกของพระมหาบุรุษดังนั้น จึงทรงซึ่งพิณทิพย์สามสายมาดีดถวายพระมหาบุรุษ สายหนึ่งตึงนัก พอดีดไปหน่อยก็ขาด สายหนึ่งหย่อนนัก ดีดเข้าก็ไม่บันลือเสียง อีกสายหนึ่ง ไม่ตึงไม่หย่อนพอปานกลาง ดีดเข้าก็บันลือเสียงไพเราะเจริญใจ พระมหาบุรุษได้สดับเสียงพิณทรงหวลระลึกถึง พิณที่เคยทรงมาแต่ก่อน ก็ทรงตระหนักแน่ ถือเอาเป็นนิมิต ทรงพิจารณาเห็นแจ้งว่า ทุกกรกิริยามิใช่ทางตรัสรู้แน่ทางแห่งพระโพธิญาณที่ควรแก่การตรัสรู้ ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา บำเพ็ญเพียรทางจิต ปฏิบัติปานกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก จึงใคร่จะทรงตั้งปณิธานทำความเพียรทางจิต ทรงเห็นว่าความเพียรทางจิตเช่นนั้น คนซูบผอมหากำลังมิได้เช่นอาตมานี้ ย่อมไม่สามารถจะทำได้ จำจะหยุดพักกินอาหารข้น คือ ข้าวสุก ขนมสด ให้มีกำลังดีก่อน ครั้นตกลงพระทัยเช่นนั้นแล้ว ก็กลับเสวยพระอาหารตามเดิม
อนึ่ง การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยา เปลี่ยนมาทำความเพียรทางจิตนั้น โดยทรงดำริเปรียบเทียบอุปมา 3 ข้อ ซึ่งพระองค์ไม่เคยสดับ ไม่เคยดำริมาก่อนเลย ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์อย่างแจ่มแจ้งว่า
สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ซึ่งมีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม และมีความพอใจรักใคร่ในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อน ที่เกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง บุคคลแช่ไว้ในน้ำ บุรุษมีความต้องการด้วยไฟ ถือเอาไม้สีไฟมาสีเข้า ด้วยหวังจะให้เกิดไฟ บุรุษนั้นก็ไม่อาจให้ไฟเกิดขึ้นได้ ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นยังสดมียางอยู่ ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ
อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความรักใคร่พอใจในกาม ยังละให้สงบระงับไม่ได้ดี สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี ไม่ได้เสวยก็ดี ก็ไม่ควรจะตรัสรู้ เหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง แม้ห่างไกลจากน้ำ บุคคลตั้งไว้บนบก บุรุษก็ไม่อาจสีให้เกิดไฟได้ ถ้าสีเข้า ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า เพราะไม้นั้นแม้ตั้งอยู่บนบกแล้ว แต่ยังเป็นของสดชุ่มด้วยยาง
อีกข้อหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายหลีกออกจากกามแล้ว และละความใคร่ในกาม ให้สงบระงับดีแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เวทนาเช่นนั้น อันเกิดเพราะความเพียรก็ดี แม้ไม่ได้เสวยเลยก็ดี ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้งที่ไกลจากน้ำ บุคคลวางไว้บนบก บุรุษอาจสีให้เกิดขึ้นได้ เพราะเป็นของแห้ง ทั้งตั้งอยู่บนบก
อุปมาทั้ง 3 ข้อนี้ ได้เป็นกำลังสนับสนุนพระหฤทัยให้พระมหาบุรุษทรงมั่นหมายในการทำความเพียรทางใจว่า จะเป็นทางให้พระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณโดยแน่แท้
ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ภิกษุ ผู้มีความนิยมในทุกกรกิริยา พากันเฝ้าบำรุงพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อเห็นพระมหาบุรุษทำความเพียรในทุกกรกิริยาอย่างตึงเครียด เกินกว่าสามัญชนจะทำได้เช่นนั้น ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใส มั่นใจว่าพระมหาบุรุษจะต้องได้ตรัสรู้โดยฉับพลัน และพระองค์จะได้ทรงเมตตาประทานธรรมเทศนาโปรดตนให้ตรัสรู้บ้าง แต่ครั้นเห็นพระมหาบุรุษทรงเลิกละทุกกรกิริยาที่ประพฤติแล้ว และเห็นร่วมกันว่า บัดนี้ พระองค์คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว จึงเบื่อหน่ายในการที่จะปฏิบัติบำรุงต่อไป ด้วยเห็นว่าพระองค์คงจะไม่อาจบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงพากันหลีกไปเสียจากที่นั้น ไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

ทรงพระสุบิน 5 ข้อ[แก้]

พระมหาบุรุษเมื่อทรงเลิกละทุกกรกิริยาแล้ว ก็ทรงเริ่มเสวยพระอาหารข้น บำรุงร่างกายให้กลับมีกำลังขึ้นได้เป็นปกติอย่างเดิมแล้ว ก็ทรงเริ่มทำความเพียรทางจิตต่อไป จนถึงราตรีวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เวลาบรรทมหลับ ทรงพระสุบิน 5 ประการ คือ
1. ทรงพระสุบินว่า พระองค์ทรงผทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์เป็นพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาและพระบาททั้งคู่ก็หยั่งลงในมหาสมุทรทิศใต้
2. ทรงพระสุบินว่า หญ้าแพรกเส้นหนึ่งรอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
3. ทรงพระสุบินว่า หมู่หนอนทั้งหลาย สีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งคู่ ปกปิดลำพระชงฆ์หมด และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล
4. ทรงพระสุบินว่า ฝูงนก 4 จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง เขียว แดง ดำ บินมาแต่ทิศทั้ง 4 ลงมาจับแท่นพระบาท แล้วกลับกลายเป็นสีขาวไปสิ้น
5. ทรงพระสุบินว่า เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมนั้นมิได้ทรงเปื้อนพระยุคลบาท
ในพระสุบินทั้ง 5 ข้อนั้น มีอธิบายว่า
ข้อ 1. พระมหาบุรุษเจ้าจะได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง 3
ข้อ 2. พระมหาบุรุษจะได้ทรงประกาศสัจธรรม เผยมรรค ผล นิพพาน แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล
ข้อ 3. คฤหัสถ์ พราหมณ์ทั้งหลาย จะเข้ามาสู่สำนักของพระองค์เป็นอันมาก
ข้อ 4. ชาวโลกทั้งหลาย คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทย์ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์แล้ว จะรู้ทั่วถึงธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่องใสไปสิ้น
ข้อ 5. ถึงแม้พระองค์จะพร้อมมูลด้วยสักการะวรามิศ ที่ชาวโลกทุกทิศน้อมถวายด้วยความเลื่อมใส ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย

ทรงรับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา[แก้]

ครั้นพระมหาบุรุษตื่นผทมแล้ว ก็ทรงดำริถึงข้อความในพระมหาสุบินทั้ง 5 แล้วทำนายด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่แท้ ครั้นได้ทรงทำสรีระกิจ สระสรงพระกายหมดจดแล้ว ก็เสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่ควงไม้นิโครธพฤกษ์ ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขะปุรณมี ดิถีกลางเดือน 6 ปีระกา
ประจวบด้วยวันวาน เป็นวันที่นางสุชาดา ธิดาของคฤหบดีผู้มั่งคั่งในตำบลนั้น นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นนางได้สามีและบุตรสมนึก นางจึงคิดจะหุงข้าวมธุปายาสอันประณีตด้วยเครื่องปรุงทุกประการ ไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่ได้ไปบนบานไว้ ดังนั้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 จึงสั่งให้บ่าวไพร่ตระเตรียมการทำข้าวปายาสเป็นการใหญ่ และกว่าจะสำเร็จเป็นข้าวปายาสได้ ก็ตกถึงเพลาเที่ยงคืน แล้วนางสุชาดาจึงสั่งนางปุณณทาสี หญิงคนใช้ที่สนิทให้ออกไปทำความสะอาด แผ้วกวาดที่โคนต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เพื่อจะได้จัดเป็นที่ตั้งเครื่องสังเวยเทพารักษ์
ดังนั้น นางปุณณทาสี จึงได้ตื่นแต่เช้า เดินทางไปยังต้นนิโครธพฤกษ์นั้น เห็นพระมหาบุรุษทรงประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้นั้น ผันพระพักตร์ทอดพระเนตรไปทางปาจินทิศ (ตะวันออก) มีรัศมีพระกายแผ่สร้านออกไปเป็นปริมณฑล งามยิ่งนัก นางก็นึกทึกทักตระหนักแน่ในจิตทันทีว่า วันนี้ เทพยดาเจ้าลงจากต้นไทรงาม นั่งคอยรับข้าวปายาสของสังเวยของเจ้าแม่ด้วยมือทีเดียว นางก็ดีใจรีบกลับมายังเรือน บอกนางสุชาดาละล่ำละลักว่า เทพารักษ์ที่เจ้าแม่มุ่งทำพลีกรรมสังเวยนั้น บัดนี้ ได้มานั่งรอเจ้าแม่อยู่ที่ควงไม้ไทรแล้ว ขอให้เจ้าแม่รีบไปเถอะ
นางสุชาดามีความปลาบปลื้มกล่าวว่า ขอให้เจ้าเป็นลูกคนโตของแม่เถิด แล้วจึงมอบเครื่องประดับแก่นางปุณณทาสี และให้หยิบถาดทองมา 2 ถาด ถาดหนึ่งใส่ข้าวปายาสจนหมด มิได้เหลือเศษไว้เลย ข้าวปายาสเต็มถาดพอดี แล้วให้ปิดด้วยถาดทองอีกถาดหนึ่ง แล้วห่อหุ้มด้วยผ้าทองอันบริสุทธิ์ ครั้นนางสุชาดาแต่งกายงามด้วยอาภรณ์เสร็จแล้ว ก็ยกถาดข้าวปายาสขึ้นทูลเหนือเศียรเกล้าของนาง ลงจากเรือนพร้อมด้วยหญิงคนใช้เป็นบริวารติดตามมาเป็นอันมาก ครั้นถึงต้นไทรเห็นพระมหาบุรุษงามด้วยรัศมีดังนั้น ก็มีความโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดาโดยแท้ เดินยอบกายเข้าไปเฝ้าแต่ไกลด้วยคารวะ ครั้นเข้าไปใกล้จึงน้อมถาดข้าวปายาสถวายด้วยความเคารพยิ่ง
ขณะนั้น บาตรดินอันเป็นทิพย์ ซึ่งฆฏิการพรหมถวายแต่วันแรกทรงบรรพชา เกิดอันตรธานหายไปจากที่นั้น พระมหาบุรุษก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกรับ แล้วทอดพระเนตรดูนางสุชาดา แสดงให้นางรู้ชัดว่า พระองค์ไม่มีบาตรจะถ่ายใส่ข้าวปายาสไว้ นางสุชาดาทราบชัดโดยพระอาการ ก็กราบทูลว่า หม่อมฉันขอถวายทั้งถาด พระองค์มีพระประสงค์ประการใด โปรดนำไปตามพระหฤทัยเถิด แล้วถวายอภิวาททูลอีกว่า ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอสิ่งซึ่งพระหฤทัยของพระองค์ประสงค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด แล้วนางก็ก้มลงกราบ ถวายบังคมลา กลับเรือนด้วยความสุขใจเป็นล้นพ้น

ทรงลอยถาดเสี่ยงพระบารมี[แก้]

ส่วนพระมหาบุรุษ เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงถือถาดข้าวปายาส เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับบ่ายพระพักตรสู่บุรพาทิศแล้ว ทรงปั้นข้าวปายาสเป็นปั้น ๆ ได้ 49 ปั้น เสวยจนหมด แล้วทรงถือถาดลงสู่แม่น้ำ ทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเสกสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แล้วทรงลอยถาดทองนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา ขณะนั้นอานุภาพพระบารมีของพระองค์ซึ่งทรงบำเพ็ญมาบริบูรณ์ดีแล้ว ได้แสดงให้เห็นอัศจรรย์ ถาดทองนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำเนรัญชราขึ้นไปประมาณ 1 เส้น แล้วถาดทองนั้นก็จมลงตรงนาคภพพิมาน แห่งพญากาฬนาคราช
ครั้นพระมหาบุรุษได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นนิมิตอันดีเช่นนั้น ก็เพิ่มความแน่พระทัยว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า โดยหาความสงสัยมิได้ ก็ทรงโสมนัสเสด็จมายังสาลวัน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประทับพักที่ภายใต้ร่มไม้สาลพฤกษ์ พอเวลาสายันห์ตะวันบ่าย ก็เสด็จออกจากหมู่ไม้สาละ ที่พักกลางวัน เสด็จดำเนินไปสู่ควงไม้อสัตถะโพธิพฤกษ์มณฑล พบโสตถิยะพราหมณ์ในระหว่างทาง โสถิยะพราหมณ์เลื่อมใส น้อมถวายหญ้าคา 8 กำ
พระมหาบุรุษรับหญ้าคาแล้ว เสด็จไปร่มไม้อสัตถนั้น ณ ด้านปราจินทิศ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าอาตมาจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้น บัลลังก์แก้วอันวิจิตรงามตะการ ก็บรรดาลผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก
พระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับรัตนบัลลังก์แก้ว ขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ตรงไปยังปราจินทิศ หันพระปฤษฎางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นโพธิ์พฤกษ์ ก่อนที่จะเริ่มทำความเพียรโดยสมาธิจิต ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในพระทัยว่า ถ้าอาตมายังมิได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงใด แม้พระโลหิตและพระมังสะจะเหือดแห้งไป จะเหลือแต่พระตจะ (หนัง) พระนหาลุ (เอ็น) และพระอัฏฐิ (กระดูก) ก็ตามที จะไม่เลิกละความเพียร โดยเสด็จลุกไปจากที่นี้
ครั้งนั้น เทพยดาทั้งหลายพากันชื่นชมโสมนัส มีหัตถ์ทรงซึ่งเครื่องสักการบูชาบุบผามาลัยมีประการต่าง ๆ พากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อม โห่ร้องซ้องสาธุการบูชาพระมหาบุรุษ สุดที่จะประมาณ เต็มตลอดมงคลจักรวาลนี้.

ทรงชนะมาร[แก้]

พญาวัสสวดีมารนำทัพมารเข้าขัดขวางการตรัสรู้ของพระสิทธัตถะโคดม
ขณะนั้น พญาวัสวดีมาราธิราช ได้สดับเสียงเทพเจ้าบันลือเสียงสาธุการ ก็ทราบชัดในพระทัยว่า พระมหาบุรุษจะตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ทำลายบ่วงมารที่เราวางขึงรึงรัดไว้ แล้วหลุดพ้นไปได้ ก็น้อยใจ คิดฤษยา เคียดแค้น ป่าวประกาศเรียกพลเสนามารมากกว่ามาก พร้อมด้วยสรรพาวุธและสรรพวาหนะที่ร้ายแรงเหลือที่จะประมาณเต็มไปในท้องฟ้า พญาวัสวดีขึ้นช้างพระที่นั่งคีรีเมขล์ นิรมิตมือพันมือ ถืออาวุธพร้อมสรรพ นำกองทัพอันแสนร้าย เหาะมาทางนภาลัยประเทศ เข้าล้อมเขตบัลลังก์ของพระมหาบุรุษเจ้าไว้อย่างแน่นหนา
ทันใดนั้นเอง บรรดาเทพเจ้าที่พากันมาห้อมล้อมถวายสักการบูชาสาธุการพระมหาบุรุษอยู่ เมื่อได้เห็นพญามารยกพหลพลมารมาเป็นอันมาก ต่างมีความตกใจกลัวอกสั่นขวัญหาย พากันหนีไปยังขอบจักรวาล ทิ้งพระมหาบุรุษเจ้าให้ต่อสู้พญามารแต่พระองค์เดียว
เมื่อพระมหาบุรุษไม่ทรงแลเห็นผู้ใด ใครที่ไหนจะช่วยได้ ก็ทรงระลึกถึงบารมีธรรมทั้ง 30 ประการ ซึ่งเป็นดุจทหารที่แก่นกล้า มีศัตราวุธครบครัน สามารถผจญกับหมู่มาร ขับไล่ให้ปราชัยหนีไปให้สิ้นเชิงได้ และพร้อมกันมารับอาสาอยู่พร้อมมูลเช่นนั้น ก็ทรงโสมนัส ประทับนิ่งอยู่ โดยมิได้สะทกสะท้านแต่ประการใด
ฝ่ายพญามารวัสวดีเห็นพระมหาบุรุษประทับนั่งนิ่ง มิได้หวั่นไหวแต่ประการใดก็พิโรธร้องประกาศก้อง ให้เสนามารรุกเข้าทำอันตรายหลายประการจนหมดฤทธิ์ บรรดาสรรพาวุธศัตรายาพิษที่พุ่งซัดไป ก็กลับกลายเป็นบุบผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น ครั้งนั้นพญามารตรัสแก่พระมหาบุรุษด้วยสันดานพาลว่า “ ดูกรสิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้ เกิดเพื่อบุญเรา เป็นของสำหรับเรา ท่านเป็นคนไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่ง จงลุกไปเสียโดยเร็ว "
พระมหาบุรุษหน่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ก็ตรัสตอบว่า "ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้ เกิดขึ้นด้วยบุญของอาตมา ที่ได้บำเพ็ญมาแต่อสังไขยยกัปป์ จะนับจะประมาณมิได้ ดังนั้น อาตมาผู้เดียวเท่านั้น สมควรจะนั่ง ผู้อื่นไม่สมควรเลย"
พญามารก็คัดค้านว่า ที่พระมหาบุรุษรับสั่งมานั้น ไม่เป็นความจริง ให้พระองค์หาพยานมายืนยันว่า พระองค์ได้บำเพ็ญกุศลมาจริง ให้ประจักษ์เป็นสักขีพยานในที่นี้
เมื่อพระมหาบุรุษไม่เห็นผู้อื่นใด ใครจะกล้ามาเป็นพยานยืนยันในที่นี้ได้ จึงตรัสเรียกนางวสุนธรา เจ้าแห่งธรณีว่า "ดูกร วสุนธรา นางจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมาในกาลบัดนี้ด้วยเถิด"
ลำดับนั้น วสุนธรา เจ้าแม่ธรณี ก็ชำแรกแทรกพื้นปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีถวายอภิวาทพระมหาบุรุษเจ้าแล้ว ประกาศให้พญามารทราบว่า พระมหาบุรุษ เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญบุญมามากมายตลอดกาล เหลือที่จะนับจะประมาณได้ แต่น้ำตรวจที่ข้าพเจ้าเอามวยผมรองรับไว้บนเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือไว้เป็นหลักฐานวินิจฉัยได้ นางวสุนธรากล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำตรวจที่สะสมไว้ในอเนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาเป็นทะเลหลวง กระแสน้ำบ่าออกท่วมทับเสนามารทั้งปวงให้จมลงวอดวาย กำลังน้ำได้ทุ่มซัดพัดช้างนาฬาคีรีเมขล์ให้ถอยล่นลงไปติดขอบจักรวาล
ครั้งนั้น พญามารตกตลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิได้เคยเห็นมาแต่กาลก่อน ก็ประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษ แล้วก็อันตรธานหนีไปจากที่นั้น
เมื่อพระมหาบุรุษทรงกำจัดมารและเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัศดงคต ก็ทรงเบิกบานพระทัย ได้ปิติเป็นกำลังภายในสนับสนุน เพิ่มพูนแรงปฏิบัติสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้น ดังนั้น พระมหาบุรุษจึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลา ทรงเจริญสมาธิภาวนา ทำจิตให้แน่วแน่ ปราศจากอุปกิเลส จนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ซึ่งเป็นส่วนรูปสมาบัติ เป็นลำดับ จนถึงอรูปสมาบัติ 4 บริบูรณ์.

ตรัสรู้[แก้]

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ร่มศรีมหาโพธิ์
ต่อนั้น ก็ทรงเจริญฌาน อันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูงทั้ง 3 ประการ ยังองค์พระโพธิญาณให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตามระยะกาลแห่งยามสามอันเป็นส่วนราตรีนั้น คือ ในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพพจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิดการตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม ก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลาปัจจุบันสมัย รุ่งอรุโณทัย ทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้ อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อนตลอดกาล ถึงกับทรงอุทาน เย้ยตัณหา อันเป็นตัวการณ์ก่อให้เกิดสังสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์แต่เอนกชาติได้ว่า "อเนกชาติ สํสารํ เป็นอาทิ ความว่า นับแต่ตถาคตท่องเที่ยว สืบเสาะหาตัวนายช่างผู้กระทำเรือน คือ ตัวตัณหา ตลอดชาติสงสารจะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบพาน ดูกรตัณหา นายช่างเรือน บัดนี้ ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้สืบไป ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว กลอนเรือน เราก็รื้อออกเสียแล้ว ช่อฟ้า เราก็ทำลายเสียแล้ว จิตของเราปราศจากสังขาร เครื่องปรุงแต่งให้เกิดในภพอื่นเสียแล้ว ได้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา อันหาส่วนเหลือมิได้โดยแท้"
ขณะนั้น อัศจรรย์ก็บังเกิดมี พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤษาชาติทั้งหลายก็ผลิตดอกออกช่องามตระการตา เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าก็แซ่สร้องสาธุการ โปรยปรายบุบผามาลัยทำการสักการบูชา เปล่งวาจาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ด้วยปีติยินดี เป็นอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีในกาลก่อน

ปฐมเทศนา[แก้]

ปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้แสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ วันเพ็ญเดือน 8 คือวันอาสาฬหบูชานั่นเอง ซึ่งกล่าวถึงที่สุด 2อย่าง อันบรรพชิต ไม่ควรปฏิบัติ คือการลุ่มหลงมัวเมาในกาม 1 การทรมาณตนให้ลำบากเปล่า 1 มัฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนิน คืออริยสัจจสี่และมรรคมีองค์แปด 1 ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้ “ธรรมจักษุ” คือดวงตาเห็นธรรม พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่า
อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ
— พระพุทธเจ้า
จากข้อความนั้นแปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ท่านโกณฑัญญะ จึงได้สมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรก

ปรินิพพาน[แก้]

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ ณ ใต้ต้นสาละทั้งคู่ ตรัสให้พระอานนท์เรียกประชุมพระสงฆ์ แล้วได้ประทานพุทธโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว หากจะพึงมีภิกษุบางรูปดำริว่า พระศาสดาของเราปรินิพพานแล้ว บัดนี้ ศาสดาของเราไม่มี อานนท์ ท่านทั้งหลายไม่ควรดำริอย่างนั้น ไม่ควรเห็นอย่างนั้น แท้จริง วินัยที่เราได้บัญญัติแก่ท่านทั้งหลายก็ดี ธรรมที่เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลายก็ดี เมื่อเราล่วงไป ธรรมและวินัยนั้น ๆ แล จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย สิ่งอื่นใด ๆ อย่าได้นำมาเป็นที่พึ่งพาว่าเป็นพระศาสดา นอกจากพระธรรมวินัยเถิด
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด
เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสพระโอวาทประทานเป็นวาระสุดท้ายเพียงเท่านี้แล้ว ก็หยุด มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง 9 โดยอนุโลมเป็นลำดับดังนี้ คือ-
ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาณแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนะแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติที่ 9
สัญญาเวทยิตนิโรธนี้ มีอาการสงบที่สุด ถึงดับสัญญาและเวทนา ไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุด สงบยิ่งกว่านอนหลับ ผู้ไม่คุ้นเคยกับสมาบัตินี้ อาจคิดเห็นไปว่าตายแล้ว ดังนั้นพระอานนท์เถระเจ้า ผู้นั่งเฝ้าดูพระอาการอยู่ตลอดทุกระยะ ได้เกิดวิตกจิต คิดว่า พระบรมศาสดาคงจะเสด็จนิพพานแล้ว จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้า ผู้เชี่ยวชาญในสมาบัตินี้ว่า "ข้าแต่ท่านอนุรุทธ พระบรมศาสดาเสด็จนิพพานแล้วหรือยัง"
"ยัง ท่านอานนท์ ขณะนี้พระบรมศาสดากำลังเสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ" พระอนุรุทธบอก
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตามเวลาที่พระองค์ทรงกำหนดแล้ว ก็เสด็จออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยออกจากสมาบัตินั้นโดยปฏิโลมเป็นลำดับจงถึงปฐมฌาน ต่อนั้นก็ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน อีกวาระหนึ่ง ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขะปุรณมี เพ็ญเดือน 6 มหามงคลสมัย ด้วยประการฉะนี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ก็บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหวกลองทิพย์ก็บันลือลั่น กึกก้องด้วยสัททสำเนียงเสียงสนั่นในนภากาศ เป็นมหาโกลาหล ในปัจฉิมกาล พร้อมกับขณะเวลาปรินิพพานของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถะของโลก
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกะเทวราช พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้กล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรของสัตว์ สังขารทั่วไป ด้วยความเลื่อมใส และความสลดใจ ในการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของมวลเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ขณะนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอนุรุทธเถระเจ้า และพระอานนท์เถระเจ้า ได้แสดงธรรมิกถาปลุกปลอบ บรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศก ตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา
ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพาน ก็กำสรดโศก ด้วยความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพาน แก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักการบูชา นานาสุคนธชาติ พร้อมด้วยผ้าขาว 500 พับ เสด็จไปยังสาลวัน ที่เสด็จปรินิพพาน ทำสักการบูชาพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยบุบผามาลัยสุคนธชาติเป็นเอนกประการ
มหาชนเป็นอันมาก แม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ต่างก็ถือนานาสุคนธชาติมาสักการบูชามากมายสุดจะคณนา เวลาค่ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วสาลวัน ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสาย ตลอดเวลา 6 วัน ไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส ถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้นวันที่ 7 มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ปรึกษาพร้อมใจกัน ในการจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคไปโดยทิศทักษิณแห่งพระนคร เพื่อถวายพระเพลิงยังภายนอกพระนคร เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็เตรียมอัญเชิญพระสรีระศพ แต่ก็ไม่สามารถจะอัญเชิญไปได้ แม้แต่จะขยับเขยื้อนให้เคลื่อนจากสถานที่สักน้อยหนึ่ง มัลลกษัตริย์พากันตกตลึงในเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยประสบเช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปเรียนถามท่านพระอนุรุทธะเถระเจ้า ซึ่งเป็นประธานสงฆ์อยู่ ณ ที่นั้นว่า “ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุไฉน ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงจะสามารถเขยื่อนเคลื่อนพระสรีระพระผู้มีพระภาคเจ้า จากสถานที่ประดิษฐานนั้นได้เล่า พระคุณเจ้า" "เพราะพระองค์ทำไม่ต้องประสงค์ของเทวดา" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาจึงไม่ยอมให้พระพุทธสรีระเขยื่อนเคลื่อนจากที่" "เทวดาทั้งหลาย มีความประสงค์เป็นฉันใดเล่า ท่านพระอนุรุทธะ ผู้เจริญ" "เทวดาทุกองค์ มีความประสงค์ให้อัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าพระนครก่อน โดยเข้าทางประตูทิศอุดร เชิญไปในท่ามกลางพระนคร แล้วออกจากพระนคร โดยทางประตูทิศบูรพา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฎพันธนะเจดีย์ ด้านทิศตะวันออกแห่งเมืองกุสินารานคร เทวดามีความประสงค์ดังนี้ เมื่อพระองค์ทำขัดกับความประสงค์ของเทวดา จึงไม่สำเร็จ"
ครั้นมัลลกษัตริย์ได้ทราบเทวาธิบายเช่นนั้น ก็ทรงผ่อนผันอนุวัตรให้เป็นไปตามประสงค์ของเทวดา จัดการอัญเชิญพระสรีระศพของพระผู้มีพระภาค เขยอนเคลื่อนจากสถานที่นั้นไปได้อย่างง่ายดาย แล้วก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางอุตรทิศเข้าไปภายในแห่งพระนคร ประชาชนพากันมาสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชน ดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นมหัศจรรย์ ทั้งดอกมณฑาอันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ก็ล่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพจะแห่ผ่านไปตามลำดับ
ขณะนั้น นางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดี ซึ่งมีนิเวศน์อยู่ในนครนั้น ครั้นได้ทราบว่า ขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพจะผ่านทางนั้น นางก็มีความยินดี ที่จะได้อัญชลีอภิวาทเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงดำริด้วยความเลื่อมใสว่า นับตั้งแต่ท่านพันธุละล่วงลับไปแล้ว เครื่องประดับอันมีชื่อว่า มหาลดาประสาธน์ เราก็มิได้ตกแต่ง คงเก็บรักษาไว้เป็นอันดี ควรจะถวายเป็นอาภรณ์ประดับพระพุทธสรีระพระชินสีห์ในอวสานกาลบัดนี้เถิด
อันเครื่องอาภรณ์มหาลดาประสาธน์นี้ งามวิจิตรมีค่ามากถึง 90 ล้าน เพราะประกอบด้วยรัตนะ 7 ประการ ในสมัยนั้นมีอยู่เพียง 3 เครื่อง คือ ของนางวิสาขา 1 ของนางมัลลิกา ภรรยาท่านพันธุละ 1 ของเศรษฐีธิดา ภรรยาท่านเทวปานิยสาระ 1 ซึ่งเป็นอาภรณ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญ
ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพผ่านมาถึงหน้าบ้านนางมัลลิกา นางจึงได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาประสาธน์ มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ ที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระลง ให้นางมัลลิกาถวายอภิวาท เชิญเครื่องมหาลดประสาธน์สรวมพระพุทธสรีระศพ เป็นเครื่องสักการบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาศ เป็นที่เจริญตาเจริญใจ ปรากฏแก่มหาชนทั้งหลาย ต่างพากันแซ่ซร้องสาธุการเป็นอันมาก แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้น ออกจากประตูเมืองด้านบูรพทิศ ไปสู่มกุฏพันธนะเจดีย์
ครั้นถึงยังที่จิตรกาธาร อันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอม งามวิจิตร ซึ่งได้จัดทำไว้แล้ว ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา 500 ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทอง ซึ่งเต็มด้วยน้ำมันหอม ตามคำพระอานนท์เถระแจ้งสิ้นทุกประการ
ครั้นเรียบร้อยแล้ว ก็อัญเชิญหีบทองนั้นขึ้นประดิษฐานบนจิตรกาธาร ทำสักการบูชา แล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง 8 องค์ ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงเข้าจุด เพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัย จึงได้เรียนถามพระอนุรุทธเถระเจ้าว่า "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุอันใด เพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น" "เป็นเหตุด้วยเทวดาทั้งหลาย ยังไม่พอใจให้ถวายพระเพลิงก่อน" พระอนุรุทธะเถระกล่าว "เทวดาต้องการให้คอยท่าพระมหากัสสปเถระ หากพระมหากัสสปเถระยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น" "ก็พระมหากัสสปเถระเจ้า ขณะนี้อยู่ที่ไหนเล่า ท่านผู้เจริญ" "ดูกรมหาบพิตร ขณะนี้ พระมหากัสสปะเถระ กำลังเดินทางมา ใกล้จะถึงอยู่แล้ว" พระเถระกล่าว
กษัตริย์มัลลราชทั้งหลาย ก็อนุวัตรตามความประสงค์ของเทวดา พักคอยท่าพระมหากัสสปเถระเจ้าอยู่ เมื่อพระมหากัสสปเถระเดินทางพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เดินทางมาถึงบริเวณที่ถวายพระเพลิงพรสรีระะศพพระพุทธเจ้า การทำการไหว้พระสรีระศพพระพุทธเจ้า จากนั้นก็เดินลงจากที่ประดิษฐานพระสรีระศพพระพุทธเจ้า ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ไฟที่ถวายพระสรีระศพเกิดผลันลุกติดขึ้นมาทันดล โดยมีเหตุปัจจัยเกิดจากอำนาจของเหล่าเทวดา พระเพลิงลุกโชติช่วงมีดอกไม้ทิพย์ร่วงโรย มีดนตรีทิพย์บรรเลงตลอดพิธี