วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บ่อเกิดของพระพุทธศาสนา

 บ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
    แม้ชาวพุทธจะมีความสำนึกว่า สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีมาแล้วมากมายในอดีต และจะมีอีกมากมายต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม คำสอนของอดีตพระพุทธเจ้าไม่เหลือหลักฐานไว้ให้ศึกษาได้อีกแล้ว ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะมาในอนาคตก็ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันจึงมาจากคำสอนของพระพุทธโคตมแต่องค์เดียว คำสอนของนักปราชญ์อื่นๆ ทั้งในและนอกพระพุทธศาสนา อาจจะเสริมความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ แต่ไม่อาจจะถือว่าเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า ความรู้ที่พระองค์ทรงรู้จากการตรัสรู้นั้นมีมากราวกับใบไม้ทั้งป่า แต่ที่พระองค์นำมาสอนสาวกนั้นมีปริมาณเทียบได้กับใบไม้เพียงกำมือเดียว พระองค์ไม่อาจจะสอนได้มากกว่าที่ได้ทรงสอนไว้ ดังนั้น หากมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น ให้ตกลงกันด้วยสังคายนา (ร้องร่วมกัน) คือ ประชุมและลงมติร่วมกัน ส่วนในเรื่องธรรมวินัยปลีกย่อย หากจำเป็นก็ให้ประชุมตกลงปรับปรุงได้ ดังนั้น บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งก็คือสังคายนา สังคายนาจึงกลายเป็นเครื่องมือให้เกิดการยอมรับร่วมกันในหมู่ผู้ยอมรับสังคายนาเดียวกัน แต่ก็เป็นทางให้เกิดการแตกนิกายโดยไม่ยอมรับสังคายนาร่วมกัน นิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้น เพราะการยอมรับสังคายนาต่างกัน และนิกายต่างกันนั้นก็ยอมรับคัมภีร์และอรรถกถาที่ใช้ตีความคัมภีร์ต่างกัน
   อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธแม้จะต่างนิกายกันก็ถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน ทำบุญร่วมกันได้ และร่วมมือในกิจการต่างๆ ได้ ผู้ใดนับถือพระพุทธเจ้าและแม้จะนับถือสิ่งอื่นด้วย เช่น พระพรหม พระอินทร์ ไหว้เจ้า หรือภูตผีต่างๆ ก็ยังถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน มิได้มีความรังเกียจเดียดฉันกันแต่ประการใด ดังนั้น การที่จะมีบ่อเกิดเพิ่มเติมแตกต่างกันไปบ้าง ตราบใดที่ยังยอมรับพระไตรปิฎกร่วมกันเป็นส่วนมาก ก็ไม่ถือว่าต้องแตกแยกกัน
 คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา
    เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 3 เดือน สาวกผู้ได้เคยสดับฟังคำสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนากัน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ สอบปากคำกันอยู่ 7 เดือน จึงตกลงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นี่คือบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก ต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เป็นสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุด
     เนื่องจากภาษามคธที่ใช้บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ครั้นกาลเวลาล่วงไปก็ค่อยๆ กลายเป็นภาษาโบราณ ยากที่จะเข้าใจได้ทันทีสำหรับนักศึกษารุ่นหลังๆ จึงได้มีผู้เชี่ยวชาญนิพนธ์ชี้แจงความหมายเรียกว่า อรรถกถา เมื่อนักศึกษารู้สึกว่าอรรถกถายังไม่ชัดเจนก็มีผู้เชี่ยวชาญนิพนธ์ฎีกาขึ้นชี้แจงความหมาย และมีอนุฎีกาสำหรับชี้แจงความหมายของฎีกาอีกต่อหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะปัญหาก็นิพนธ์ชี้แจงเฉพาะปัญหาขึ้นเรียกว่า ปกรณ์ เหล่านี้ถือว่าเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น แต่ทว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าพระไตรปิฎก เพราะถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ตีความ นักศึกษาจะเห็นกับบางคัมภีร์ และไม่เห็นด้วยกับบางคัมภีร์ก็ได้ ไม่ถือว่ามีความเป็นพุทธศาสนิกมากน้อยกว่ากันเพราะเรื่องนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น