วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ประวัติพระพุทธศาสนา

ประวัติพระพุทธศาสนา

 ความหมาย
    พระพุทธศาสนา (Buddhism) คือ ศาสนาที่ถือว่าธรรมะเป็นความจริงสากล ที่ใครก็ตามหากสิ้นกิเลสก็จะพลได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้ และสามารถตั้งพุทธบริษัทปัจจุบันขึ้นได้ คือ พระพุทธโคตม ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในบรรดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายที่ได้เคยตั้งพุทธบริษัทมาแล้ว และที่จะตั้งต่อไปในอนาคต ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากที่ตรัสรู้แต่ไม่มีบารมีพอให้ตั้งพุทธบริษัทได้ จึงให้ผลเฉพาะตัวเรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า
   จึงเห็นได้ว่า จากความสำนึกดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวพุทธมีใจกว้าง เพราะถือเสียว่าธรรมะมิได้มีในพระพุทธศาสนาของพระโคตมเท่านั้น แต่คนดีทั้งหลายก็อาจจะพบธรรมะบางข้อได้ และแม้แต่ชาวพุทธเอง พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารถนาให้แสวงหาและเข้าใจธรรมะด้วยตนเอง พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง คือ ผู้ช่วยเกื้อกูลให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเองในที่สุด "ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง" อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนิกที่แท้จริง คือ ผู้ที่แสวงหาธรรมะด้วยตนเองและพบธรรมะด้วยตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พยายามพัฒนาธาตุพุทธะในตัวเอง
 ลักษณะคำสอนของพระพุทธศาสนา
    ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา คือ เป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ กล่าวคือ เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทั้งความเป็นจริงและข้อธรรมได้ดีเยี่ยมเป็นพิเศษ เช่น วิเคราะห์จิตได้ละเอียดลอออย่างน่าอัศจรรย์ใจ วิเคราะห์ธรรมะออกเป็นข้อ ๆ อย่างละเอียดสุขุมและประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบที่แน่นแฟ้น หากจะพยายามอธิบายธรรมะข้อใดสักข้อหนึ่ง ก็จะต้องอ้างถึงธรรมะข้ออื่นๆ เกี่ยวโยงไปทั้งระบบ วิธีการวิเคราะห์ธรรมะอย่างนี้ บางสำนักของศาสนาฮินดูได้เคยทำมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถทำได้เด่นชัดอย่างธรรมะที่สอนกันในพระพุทธศาสนา จึงควรยกย่องได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ และเมื่อกล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาไม่สนใจด้านอื่นๆ ทั้งมิได้หมายความเลยไปถึงว่าศาสนาอื่นๆ ไม่รู้จักวิเคราะห์ หามิได้ ต้องการหมายเพียงแต่ว่าพระพุทธศาสนาเด่นกว่าศาสนาอื่นๆ ในด้านวิเคราะห์เท่านั้น และถ้าหากศาสนาต่างๆ จะพึ่งพาอาศัยกันและกันก็พระพุทธศาสนานี่แหละสามารถให้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ข้อธรรมะได้อย่างดีเยี่ยม ในขณะที่ศาสนาอื่นๆ อาจจะบริการด้านอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างเด่นชัด เช่น ศาสนาพราหมณ์ในเรื่องจารีตพิธีกรรม ศาสนาอิสลามในเรื่องกฎหมาย เป็นต้น แต่ทั้งนี้แล้วแต่ว่าสมาชิกแต่ละคนของแต่ละศาสนาจะสนใจร่วมมือกันในทางศาสนามากน้อยเพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น